ผอ. ดีป้า เผย “พิษโควิด” เหมือนนาฬิกาหยุดเวลา

09 ม.ค. 2564 | 08:33 น.

ผอ. ดีป้า เผย “พิษโควิด” เหมือนนาฬิกาหยุดเวลา การท่องเที่ยวการส่งออกลดลงกระทบ GDP ไทยดิ่งกว่า 70% การจับจ่ายใช้สอยชะลอตัวกระทบทั้งระบบเศรษฐกิจ

    นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจและสังคมขับเคลื่อนด้วย 2 ปัจจัยที่กำลังเติบโต ได้แก่  1. การท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทย ซึ่งสถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลให้ที่ขณะนี้นักท่องเที่ยวที่มีหายไปเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่หายไปทำให้ GDP ไทยลดลงประมาณ 10% 2. ผลกระทบจากการส่งออกสินค้า ที่ไทยสามารถผลิตได้แต่ในต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่นก็ประสบกับวิกฤติของโควิด-19 เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นการจับจ่ายใช้สอยจึงลดลงส่งผลกระทบต่อ GDP ไทยที่ลดลงถึง 70% เกิดเป็นผลกระทบที่ตามมาในโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทั้งหมด

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

      ขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกของธุรกิจไทย คือ เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้า ระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่เข้าสู่โรงงานการผลิตหรือแปรรูปสินค้าเกษตร รวมไปถึงวัตถุดิบอื่นๆ นอกภาคการเกษต เช่น การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ในเมืองไทย หรือ การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออก  และธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง  ทั้งนี้สินค้าที่จับจ่ายใช้สอยในประเทศโดยผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าหลัก คือประชาชนกว่า 67 ล้านคน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยที่หายไป ธุรกิจบริการร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรมเริ่มมีการปิดกิจการชะลอการดำเนินงานต่างๆ ส่งผลให้การจ้างงานต้องชะลอหรือหยุดลงตามปริมาณการผลิตที่ลดลง  

      นอกจากนี้สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ พนักงานหรือประชาชนที่อยู่ในธุรกิจจึงถูกลดจำนวนลงส่งผลให้ประชาชนหันไปทำงานอย่างอื่นมากขึ้น ประชาชนที่อยู่ในภาคการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำที่มีกว่า 7-8 ล้านครัวเรือน ที่เคยออกไปทำงานในเมืองต้องอพยพกลับถิ่นฐาน  อีกทั้งหนี้สินของประชาชนที่เกิดจากการไม่มีรายได้และกำลังในการจ่ายหนี้สินภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านบาท สิ่งเหล่านี้คือองค์ประกอบทางเศรษฐกิจที่ล้วนได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19