“อินโดฯ-อินเดีย”เฮ มะกันเชือดยางรถยนต์ไทย

09 ม.ค. 2564 | 01:43 น.

เอกชนชี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเตรียมเก็บภาษีเอดียางรถยนต์จากไทย 13-22% กระทบตลาดส่งออก 8 หมื่นล้าน จับตาคู่ค้าหันนำเข้าจากอินโดฯ-อินเดียเพิ่ม กระทบชิ่งจีนลงทุนตั้งโรงงานยางรถยนต์ในไทยลดลง

 

จากที่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา (DOC) ได้ประกาศผลการพิจารณาอัตราอากรการทุ่มตลาด(AD) สินค้ายางรถยนต์โดยสารและรถบรรทุกขนาดเล็กจากไทย  เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของประเทศไทยมีอัตรา AD อยู่ที่ 13.25-22.21% ของราคาซีไอเอฟ โดยบริษัท แอล แอล ไอ ที (ประเทศไทย) จำกัด(หรือ “หลิงหลง” แบรนด์ยางรถยนต์ชั้นนำจากจีน) มีอัตรา AD สูงสุดอยู่ที่ 22.21% และบริษัท ซูมิโตโม รับเบอร์(ไทยแลนด์) จำกัด (แบรนด์ยางรถยนต์จากญี่ปุ่น) มีอัตรา AD ต่ำสุดที่ 13.25 % ส่วนผู้ส่งออกรายอื่น ๆ ทั้งอินเตอร์แบรนด์ในไทย และแบรนด์ไทยมีอัตรา AD อยู่ที่ 16.66%

 

ทั้งนี้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถแสดงความเห็น (Case Brief)ต่อผลการเจรจาดังกล่าวได้ภายใน 21 วัน และหากประสงค์ให้มีการเปิดรับฟังความเห็น (Hearing) สามารถยื่นคำขอต่อ DOC ได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงประกาศใน Federal Register  ซึ่ง DOC มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาอัตรา AD ชั้นที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USITC) มีกำหนดประกาศผลการพิจารณาด้านความเสียหายชั้นที่สุด ในวันที่28 มิถุนายน 2564 นั้น

 

“อินโดฯ-อินเดีย”เฮ มะกันเชือดยางรถยนต์ไทย

 

นายชัยสิทธิ์  สัมฤทธิวณิชชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  การเรียกเก็บภาษี AD ของสหรัฐฯจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ายางรถยนต์จากประเทศไทยไปสหรัฐฯอย่างแน่นอน ซึ่งผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากคือผู้ประกอบการแบรนด์ไทย รวมถึงผู้ประกอบการจากจีนที่ก่อนหน้านี้สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษี AD สินค้ายางรถยนต์จากประเทศจีน(อัตรา 87.99% ตั้งแต่ปี 2558) ทำให้หลายค่ายจากจีนย้ายฐานมาลงทุนในไทย ขณะที่ค่ายยางรถยนต์อินเตอร์แบรนด์จากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือเอเชียอื่น ๆ ที่มาลงทุนในไทยคงไม่กระทบมาก เพราะมีฐานการผลิตในหลายภูมิภาคของโลกที่สามารถใช้ฐานในประเทศที่ไม่ถูกสหรัฐฯใช้มาตรการ AD ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯได้

 

สหรัฐฯถือเป็นตลาดส่งออกยางรถยนต์ใหญ่สุดของไทย เมื่อเราถูกเก็บภาษีเอดี ประเทศที่คาดว่าจะได้อานิสงส์คืออินโดนีเซีย และอินเดีย ที่เป็นอีกสองประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ที่ไม่ได้ถูกใช้มาตรการ AD ซึ่งต้องรอดูว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯจะหันไปนำเข้าจากสองประเทศนี้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และสองประเทศนี้เขาจะมีความสามารถส่งเข้าไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เขาคงไม่สามารถรองรับตามความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมดเพราะยางรถยนต์มีหลายคุณภาพ หลายราคา คาดว่าส่วนหนึ่งคู่ค้าก็จะยังมาสั่งซื้อจากไทยและจีนอยู่ ต้องรอดูผลระยะยาว แต่กระทบเราแน่ ผู้ประกอบการคงต้องเร่งหาตลาดอื่นชดเชย

 

อย่างไรก็ดีผลต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยจากถูกเรียกเก็บภาษี AD ในครั้งนี้ มองว่าจะส่งผลกระทบทำให้ผู้ลงทุนผลิตยางรถยนต์รายใหม่ ๆ จากจีนคงไม่มาลงทุนในไทยเพิ่ม แต่อาจจะไปลงทุนในอินโดนีเซีย และอินเดียแทน

 

 

ด้านนายกีรติ  รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า การประกาศผลอัตรา AD ยางรถยนต์จากไทยที่ 13.25-22.21% ถือเป็นอัตราที่ยังต่ำกว่าอีก 3 ประเทศที่เป็นคู่แข่งขันและถูกไต่สวน โดยสินค้าชนิดเดียวกันจากเวียดนามมีอัตราภาษี ADในเบื้องต้นที่สหรัฐฯจะเรียกเก็บที่ 0-22.30%  และมีภาษีจากการอุดหนุน(CVD)ที่จะถูกเรียกเก็บอีกที่ 22.27% ส่วนเกาหลีใต้ถูกเรียกเก็บภาษี AD ที่ 14.24-38.07% และไต้หวันถูกเรียกเก็บภาษี AD ที่ 52.42-98.44%

 

“อินโดฯ-อินเดีย”เฮ มะกันเชือดยางรถยนต์ไทย

                                       กีรติ  รัชโน

 

“ก่อนที่สหรัฐจะประกาศอัตราภาษีเอดียางรถยนต์จากไทย ทางทีมไทยแลนด์ทั้งกรมการค้าต่างประเทศร่วมกับทนายความที่บริษัทเอกชนจ้างต่อสู้คดี รวมทั้งทูตพาณิชย์ได้ช่วยกันชี้แจงและส่งข้อมูลไปทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพื่อแก้ต่าง รวมถึงได้คุยกับผู้นำเข้าเพื่อช่วยชี้แจง ผลสุดท้ายเราถูกเรียกเก็บภาษีเอดีหลักสิบเปอร์เซ็นต์  จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการยางรถยนต์ในสหรัฐฯเรียกร้องเก็บภาษี AD ไทยสูงถึง 217% เรื่องนี้แม้จะส่งผลกระทบผู้ส่งออกยางรถยนต์จากไทย แต่มองอีกมุมจากที่เราถูกเรียกเก็บภาษีต่ำกว่าอีก 3 ประเทศที่ถูกไต่สวน เราน่าจะยังพอแข่งขันได้”

 

หลังจากนี้ทางกรมการค้าต่างประเทศจะรวบรวมและส่งความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯไปให้ทาง DOC เพื่อใช้ประกอบและตัดสินใจก่อนประกาศผลการพิจารณาอัตรา AD ชั้นที่สุดในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ต่อไป

 

จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรในปี 2562 ไทยส่งออกยางยานพาหนะไปทั่วโลกมูลค่ารวม 178,747 ล้านบาท ในจำนวนนี้ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯมูลค่า 82,441 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 7,155 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 6,619 ล้านบาท, มาเลเซีย 6,282 ล้านบาท และเกาหลีใต้ 5,221 ล้านบาท ส่วนปี 2563 (11 เดือนแรก)ส่งออกรวม 154,578 ล้านบาท ตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ 77,957 ล้านบาท, ออสเตรเลีย 6,582 ล้านบาท,ญี่ปุ่น 6,038 ล้านบาท,เกาหลีใต้ 5,476 ล้านบาท และมาเลเซีย 5,015 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สหรัฐฯประกาศเอดียางรถยนต์จากไทย เรียกเก็บภาษี 13-22%

สหรัฐเล็งเก็บภาษี AD ยางรถยนต์นำเข้า จ่อเชือด 4 ประเทศ รวมทั้งไทย 29 ธ.ค.นี้ 

สหรัฐเล็งฟันภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ยางรถยนต์ไทย 217% รู้ผล 29 ธ.ค.