“จีน”เร่งพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีครอบคลุม 11 มณฑล

08 ม.ค. 2564 | 10:23 น.

“สี จิ้นผิง”เอาใจใส่ส่งเสริมพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ครอบคลุมพื้นที่ 11 มณฑล ย้ำจำเป็นต้องเสริมสร้างความคิดเชิงระบบ


วันนี้( 8 ม.ค.64) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมสัมมนาเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 


๑. เมื่อวันที่ ๕ ม.ค.๖๔ มหานครฉงชิ่งได้จัดการสัมมนาว่าด้วยการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี เนื่องวาระครบรอบ ๕ ปี โดยมีประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานกรรมาธิการทหารกลาง เป็นประธาน 


โดยตลอดช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เอาใจใส่ในการส่งเสริมการพัฒนาแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี โดยได้เน้นย้ำถึงแนวทางการจัดลำดับความสำคัญของระบบนิเวศและการพัฒนาสีเขียว เพื่อให้แม่น้ำแยงซีซึ่งเปรียบเป็นดั่งแม่ของประชาชาติจีนยังคงดำรงอยู่ตลอดไป


 ๒. โดยตลอดระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ๑๑ มณฑลและนครริมฝั่งแม่น้ำแยงซีที่เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดของจีน ได้มีการรณรงค์ในการบริหารระบบนิเวศ การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสีเขียวอย่างรอบด้านรวมทั้งเปิดกว้างยิ่งขึ้น และได้ประสบความสำเร็จเชิงประวัติศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ปัจจุบัน แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีกลายเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเกิดใหม่รวมตัวกัน 


ขณะที่ขนาดการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศ รวมถึงการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ มีสัดส่วนกว่า ๕๐% ของประเทศ ทั้งนี้ มหานครฉงชิ่งซึ่งเป็นบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำแยงซี ได้พยายามส่งเสริมการเปลี่ยนแปลง และยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม มีการพัฒนาการเกษตรตามพื้นที่ภูเขาที่ทันสมัยให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น เป็นแบบฉบับในการส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวของเส้นทางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซี 

 


บทสรุป ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำว่า จำเป็นต้องเสริมสร้างความคิดเชิงระบบ โดยการประสานการปฏิรูปและการพัฒนาของภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้การทำงานร่วมกันของมณฑลและเมืองริมแม่น้ำแยงซี มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาที่ประสานกันของแถบเศรษฐกิจตอนบน ตอนกลางและตอนล่างของแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี 


รวมทั้งความร่วมมือระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันตก เพื่อสร้างแถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีให้เป็นสายพานสาธิต การบุกเบิกการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาที่ประสานกัน สำหรับการก่อสร้างอารยธรรมนิเวศวิทยาของจีน โดยเฉพาะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของแนวชายฝั่งที่มีอยู่ รวมถึงความปลอดภัยทางน้ำ การควบคุมน้ำท่วม การควบคุมมลพิษ ท่าเรือ การขนส่ง และภูมิทัศน์ เป็นต้น