เร่งช่วยเหลือพื้นที่"น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้"

08 ม.ค. 2564 | 07:46 น.

"กรมชลประทาน" เร่งช่วยเหลือพื้นที่"น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้" ยะลา -ปัตตานี-นราธิวาส พร้อมระดมเครื่องจักรเพื่อระบายน้ำ และวางแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางเพื่อลดผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด

ผลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้พื้นที่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแห่งๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 


ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าลุ่มน้ำโก-ลก ที่สถานีวัดน้ำสะพานลันตู อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส มีน้ำล้นตลิ่งที่บริเวณเทศบาลสุไหงโก-ลก 2.02 เมตร แนวโน้มลดลง  มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าโรงเลื่อย และชุมชนหัวสะพานลันตู เทศบาลเมืองโก-ลก


โดยโครงการชลประทานนราธิวาส ได้ทำการเปิดบานประตูระบายน้ำ 9 แห่ง เพื่อพร่องน้ำและขุดเปิดสันทรายบริเวณปลายคลองพรุบาเจาะสายใหญ่ เร่งผลักดันน้ำให้ไหลลงทะเลโดยเร็ว

 

ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา ที่สถานีวัดน้ำคลองตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.79 เมตร แนวโน้มลดลงสำนักงานชลประทานที่ 17 นำรถแบคโฮ ขุดลอกตะกอนทราย บริเวณปากแม่น้ำด้านท้ายประตูระบายน้ำแบ่ง อำเภอตากใบ เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางนรา พร้อมควบคุมบานระบายอาคารเพื่อป้องกันน้ำเค็มและพร่องน้ำในพื้นที่

 

เร่งช่วยเหลือน้ำท่วม3จังหวัดชายแดนใต้

 

ด้านแม่น้ำสายบุรี ที่สถานีวัดน้ำบ้านซากอ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส น้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.78 เมตร แนวโน้มลดลง 
 

ส่วน ลุ่มน้ำปัตตานี สถานีวัดน้ำบ้านท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.13 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น และที่สถานีวัดน้ำบ้านบริดอ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ระดับน้ำ สูงกว่าตลิ่ง 0.86 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

น้ำท่วม 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

สำหรับสถานการณ์น้ำที่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา กรมชลประทาน ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ควบคุมปริมาณน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปัจจุบัน (8 ม.ค.63) เขื่อนบางลางมีปริมาณน้ำในอ่างฯ ประมาณ 1,486 ล้านลูกบาศก์เมตร เกินความจุร้อยละ 4 ของความจุอ่างฯ

 

ในขณะที่ยังคงมีฝนตกทางตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีน้ำไหลลงอ่างฯเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องระบายน้ำในอัตราวันละ 40-66 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณท้ายเขื่อนริมตลิ่งแม่น้ำปัตตานี ตั้งแต่อำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปีนัง และอำเภอเมืองยะลา


ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทาน ได้ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนปัตตานีในอัตรา 42.13 ล้าน ลบ.ม. /วัน และระบายผ่านทางประตูระบายน้ำฉุกเฉินอีกประมาณ 3.31 ล้าน ลบ.ม./วัน  พร้อมกับตัดยอดน้ำเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ 2 สาย รวมกันประมาณ 4.33 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน 


อีกทั้งได้บริหารจัดการน้ำด้านท้ายเขื่อนปัตตานี โดยใช้ประตูระบายน้ำปรีกี ควบคุมการระบายน้ำสลับกับการระบายน้ำผ่านแม่น้ำปัตตานีและคลองตุยงเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด 
 

"ได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปเสริมจากเดิมที่ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนประตูระบายน้ำทุกแห่งให้เปิดบานพ้นน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่อ่าวไทย ลดผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่การเกษตรให้เร็วที่สุด"


ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวในตอนท้ายว่า กรมชลประทาน จะช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด  หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา