ปั้นศูนย์เศรษฐกิจ  รอบสถานีไฮสปีดซีพี  กับการตอบสนองเศรษฐกิจท้องถิ่น

11 ม.ค. 2564 | 04:45 น.

บทความ โดย ฐาปนา บุณยประวิตรนายกสมาคมการผังเมืองไทย[email protected] เรื่อง ศูนย์เศรษฐกิจ  รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอีอีซี กับการตอบสนองเศรษฐกิจในท้องถิ่น

 

การที่ซีพีได้รับสัมปทานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามท่าอากาศยานและการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟอีอีซีเมื่อปีที่แล้ว หากพิจารณาในเชิงของธุรกิจ อาจชี้ได้ว่า ซีพีได้ครอบครองหัวจักรสำคัญทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของอีอีซีเอาไว้ แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมการพัฒนาเมืองที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจท้องถิ่น หากสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจที่เป็นจุดแข็งของเครือซีพีให้มีการเพิ่มสมรรถนะให้กับธุรกิจท้องถิ่นได้ ประโยชน์ก็จะเกิดแก่ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดตะวันออกและพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เป็นประตูทางเข้าพื้นที่อีอีซี

ไฮสปีดซีพี

 

ลองย้อนไปพิจารณาลำดับศักย์สถานีทั้ง 9 แห่งที่จะพัฒนาเป็นศูนย์เศรษฐกิจในอนาคต อาจแบ่งออกตามศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 

 

 

กลุ่มศักยภาพสูงมาก 

สถานีที่ตั้งใจกลางเมืองจะเป็นพื้นที่มีมูลค่าสูง มีกิจกรรมเศรษฐกิจกระจายโดยรอบ ได้แก่ สถานีมักกะสัน สถานีกลางบางซื่อ และสถานีดอนเมือง สถานีกลุ่มนี้ อาจเว้นสถานีกลางบางซื่อไว้เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดสรรพื้นที่ให้เอกชนสัมปทานพัฒนาเชิงพาณิชย์ ไม่รวมในสัญญาสัมปทานรถไฟเชื่อมสามท่าอากาศยาน เว้นกรณีที่ซีพีได้รับสัมปทานในสัญญาใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือการขอสัมปทานที่ดินบริเวณ กม.11 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพิ่มเติม สำหรับสถานีดอนเมืองเนื่องจากพื้นที่โดยรอบเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์ของกรมธนารักษ์ ซึ่งครอบครองโดยกองทัพอากาศและหน่วยงานราชการ ยากที่จะนำมาพัฒนาได้ เว้นแต่หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการพัฒนาเอง หรือซีพีทำความตกลงกับบางหน่วยงาน เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือกรมธนารักษ์ในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 

 

สำหรับสถานีมักกะสัน จากการศึกษาของบริษัท เอเซียสเปซ แพลนนิ่ง จำกัด (2562) พบว่า หากซีพีพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ตามแผนงานเดิมที่เคยเสนอต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณดังกล่าว จะมีขนาดพื้นที่ค้าปลีกโดยรวมสูงที่สุดของกรุงเทพมหานครหรือเป็นพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานครโซนตะวันออก โดยย่านพาณิชยกรรมผสมผสานที่อยู่อาศัยและศูนย์กลางพาณิชยกรรมพระรามเก้า-มักกะสัน-อโศก จะมีพื้นที่ค้าปลีกมากกว่า 1 ล้านตารางเมตร มีความสามารถในการจ้างงานมากกว่า 2 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจ้างงานประเภทนวัตกรรมซึ่งอาจสูงถึง 2 หมื่นตำแหน่ง 

 

 

 

กลุ่มศักยภาพสูง 

สถานีชานเมืองที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อกับเมือง ได้แก่ สถานีลาดกระบังหรือสถานีสุวรรณภูมิ สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา ทั้งสามสถานีอาจนับเป็นเรือธงทางเศรษฐกิจของพื้นที่อีอีซี แม้ตัวสถานีจะตั้งอยู่นอกตัวเมืองแต่ตำแหน่งที่ตั้งมีโอกาสในการเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งรองเชื่อมต่อไปยังตัวเมืองและต่อไปยังศูนย์เศรษฐกิจพาณิชกรรม อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวใจกลางเมืองได้ ในการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ซีพีในฐานะผู้บริหารสถานีควรวางแผนและบริการจัดการโครงข่ายเศรษฐกิจร่วมกับเทศบาล ประกอบด้วย เมืองพัทยา เทศบาลนครแหลมฉบัง และเทศบาลเมืองศรีราชา พร้อมด้วยผู้ประกอบการในพื้นที่ ภารกิจแรกที่ต้องดำเนินการได้แก่ การประสานแผนการศึกษาและการลงทุนโครงข่ายระบบการขนส่งมวลชนรอง

 

ที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ตัวเมืองและศูนย์เศรษฐกิจประเภทต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปได้ ซีพีน่าจะเป็นผู้ศึกษาและลงทุนระบบขนส่งมวลชนรองเสียเอง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบูรณาการทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่โดยรอบสถานี ภารกิจต่อมาเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีหรือการพัฒนา TOD ซีพีควรร่วมวางแผนกับเทศบาลและผู้ประกอบการในการกำหนดรูปแบบกิจกรรมเศรษฐกิจ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจระหว่างกิจการระดับต่างๆ ทั้งกิจการในท้องถิ่นและกิจการภายนอกท้องถิ่น 

 

สำหรับสถานีสุวรรณภูมินั้น อาจมีการพัฒนาร่วมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเนื่องจากยังมีที่ว่างให้พัฒนาได้อีกมาก หรือพัฒนาร่วมกับการเคหะแห่งชาติซึ่งมีที่ดินหลายร้อยไร่บริเวณย่านร่มเกล้า หรือการพัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมีที่ดินตั้งอยู่ติดกับที่ตั้งสถานี ที่อยากเสนอให้ซีพีพิจารณาคือ การขยายเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าระหว่างสถานีสุวรรณภูมิกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้มบริเวณเขตมีนบุรี โดยขยายโครงข่ายผ่านเส้นทางถนนร่มเกล้า ซี่งจะทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครโซนตะวันออกเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด

 

กลุ่มมีศักยภาพในระยะยาว 

สถานีที่ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมือง แต่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ได้แก่ สถานีอู่ตะเภาซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการร่วมกับกองทัพเรือและผู้ประกอบการเอกชนพัฒนาเป็นเมืองใหม่อู่ตะเภา  สำหรับพื้นที่บริเวณนี้ การพัฒนาเชิงพาณิชย์จะเกิดความสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อ มีการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงไปยังสถานีมาบตาพุดและตัวจังหวัดระยอง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีศูนย์เศรษฐกิจขนาดใหญ่รองรับการเดินทางและการประกอบการธุรกิจอยู่แล้ว สำหรับสถานีชลบุรีและสถานีฉะเชิงเทรา อาจพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน เป็นศูนย์การเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ 

 

จะเห็นได้ว่า ศูนย์เศรษฐกิจรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามท่าอากาศยาน จะมีศักยภาพในการตอบสนองต่อการยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ก็ต่อเมื่อ มีการประสานแผนและมีการร่วมการลงทุนระหว่างหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยการเชื่อมต่อโครงข่ายขนส่งมวลชนรองทั้วทั้งบริเวณและการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงจะเป็นปัจจัยเครื่องบ่งชี้ถึงความสำเร็จการพัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,643 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

เบี่ยงแนว "ไฮสปีด" 70 กม. หลบท่อนํ้ามัน แทปไลน์ "สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา"

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (37)

ลุยไฮสปีด เฟส 2 บูมระยอง-จันทบุรี-ตราด