ประวัติศาสตร์ต้องจารึก ม็อบยึดสภาคองเกรสครั้งแรกในรอบ 200 ปี

07 ม.ค. 2564 | 10:36 น.

ม็อบบุกกรุงวอชิงตัน ดีซี และการจลาจลในอาคารรัฐสภาที่รู้จักกันในนาม “สภาคองเกรส” กลายเป็นผลงานทิ้งทวนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้โลกต้องลุ้นระทึก

 

เหลือเวลาในการดำรงตำแหน่งอีกเพียงราว 2 สัปดาห์ ไม่มีใครคาดคิดว่าคำขู่ของ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ที่เกริ่นกล่าวไว้เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า วันที่ 6 ม.ค.จะมีการต่อสู้ทวงคืนความยุติธรรมให้แก่เขา สุดท้ายแล้วจะจบลงในรูป การจลาจลล้อมรัฐสภา และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 4 คน

 

สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญเหนือสิ่งอื่นใด แม้ในคำประกาศสาบานตนของประธานาธิบดียังมีธรรมเนียมสืบกันมายาวนาน โดยผู้จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต้องกล่าวสาบานตนว่า “ข้าพเจ้าขอสาบานอย่างหนักแน่น ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาด้วยความสุจริต และจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อธำรงพิทักษ์ และปกปักรักษารัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา” 

 

ไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้มา 206 ปีแล้วในประวัติศาสตร์สหรัฐ

รัฐธรรมนูญที่เป็นหัวใจของการปกครองประเทศสหรัฐมากว่า 200 ปีนั้น ระบุว่าสหรัฐอเมริกามีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี ประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ต้องพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย และรัฐบาลที่ทำหน้าที่บริหารประเทศก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามหลักของการปกครองโดยความยินยอมเห็นชอบของประชาชน ซึ่งหลักการนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อจัดให้มีระบบการเลือกตั้งในทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครอง ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งโดยคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งได้รับอาณัติจากประชาชน

 

รองปธน.ไมค์ เพนซ์ กล่าวถึงผู้ชุมนุมที่บุกยึดรัฐสภาว่า "พวกคุณไม่ใช่ผู้ชนะ"

ปัญหาของสหรัฐในขณะนี้คือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซึ่งมีขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยทรัมป์และกลุ่มผู้สนับสนุนไม่เพียงเรียกร้องให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหลายพื้นที่ด้วยการกล่าวหามีการ “โกงเลือกตั้ง” แต่ไม่มีหลักฐานมายืนยัน หลายมลรัฐมีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่ แต่ผลก็ยังออกมาเหมือนเดิมคือชัยชนะเป็นของนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต สมาชิกสภาคองเกรสฝ่ายพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่งยืนยันว่าจะออกเสียงคัดค้านชัยชนะของนายโจ ไบเดน ในการประชุมร่วมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนับผลคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจากคณะผู้เลือกตั้งในวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้ รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง เป็นประธานการประชุม แต่เริ่มประชุมได้ไม่ทันไร ก็มีม็อบที่สนับสนุนปธน.ทรัมป์ บุกเข้ามาป่วนหลายร้อยคน ไม่รวมที่อยู่บนท้องถนนอีกนับพันคนในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมืองหลวง จนทำให้ต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงวอชิงตันจนกว่าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ (20 ม.ค.)จะผ่านพ้นไป มีการประกาศปิดพื้นที่อาคารรัฐสภาเพื่อกระชับพื้นที่คืนสู่ความสงบหลังจากที่สภาต้องปิดประชุมเป็นการฉุกเฉินและอพยพสมาชิกสภา รวมทั้งเจ้าหน้าที่หนีออกไปสู่พื้นที่ปลอดภัยขณะม็อบเข้าบุกล้อม

 

แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะออกมาแถลงพร้อมเผยแพร่คลิปผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ขอให้ผู้ชุมนุม “กลับบ้าน” ได้แล้ว แต่อีกหลายประโยคในถ้อยแถลงดังกล่าว ฟังแล้วไม่อาจคิดไปเป็นอื่น นอกจากการยั่วยุและโหมไฟความขัดแย้งให้ลุกโชน เพราะเขายืนยันว่าต้องต่อสู้เพื่อทวงคืนชัยชนะการเลือกตั้งที่ถูกนายไบเดน “ขโมย”ไป ท่าทีดังกล่าวสร้างความวิตกให้กับบรรดาผู้นำนานาประเทศที่มองว่าสหรัฐเป็น “ต้นแบบประชาธิปไตย” พวกเขาหวังว่า ความวุ่นวายที่ยกระดับกลายเป็นความรุนแรงนี้จะจบลงด้วยดี

 

เหตุการณ์ครั้งนี้ ต้องถูกจารึกเอาไว้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 206 ปีที่ “สภาคองเกรส” หรือรัฐสภาของสหรัฐ ถูกบุกรุกจนเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นถึงขนาดมีผู้ถูกยิงเสียชีวิต เพราะครั้งหลังสุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2357 เมื่อสหรัฐถูกอังกฤษบุกในยุคที่มีสงครามระหว่างกัน    

ภาพประวัติศาสตร์ที่โลกต้องจารึกไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไมค์ เพนซ์ยอมหักดิบกับปธน.ทรัมป์ ย้ำอเมริกาต้องยึดมั่นหลักรัฐธรรมนูญ ประชาชนเลือกโจ ไบเดน

"ทวิตเตอร์" “เฟซบุ๊ก” บล็อคบัญชีประธานาธิบดีทรัมป์ หลังทวีตป่วนมวลชนลุกฮือบุกสภา

ม็อบหนุนทรัมป์นับพันบุกคองเกรส สหรัฐประกาศเคอร์ฟิวเมืองหลวง