คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (3)

07 ม.ค. 2564 | 06:22 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (3) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3642 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่ายซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่ายซีพี มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาดกันเป็นตอนที่ 3 ในประเด็นที่สองที่จะต้องพิจารณาคือ การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม  ตามความในมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560  

เรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นประการแรกคือ การประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจ ซึ่งจากการพิจารณาขอบเขตตลาดด้านสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องพบว่า ตลาดสินค้า หรือบริการที่มีความทับซ้อนกันระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจคือตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น และ เทสโก้โลตัส เอ็กซ์เพรส คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจึงเห็นควรให้ประเมินผลกระทบต่อการแข่งขันภายหลังการรวมธุรกิจในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งจะต้องมีการพิจารณา ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในตลาดประเภทอื่นที่เป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันประกอบด้วย โดยจะพิจารณา ในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

1. การกระจุกตัวของตลาด ในการพิจารณาการกระจุกตัวของตลาดจะพิจารณาจากดัชนี Herfindahl-HirschmanIndex (HHI) โดยคำนวณผลรวมส่วนแบ่งตลาดยกกำลังสองของผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายในตลาด ซึ่งการประเมินการกระจุกตัว จะพิจารณาจากค่า HHI ภายหลังการรวมธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงของค่า HHI ที่เกิดจากการรวมธุรกิจ โดยใช้หลักเกณฑ์จากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือFederal Trade Commission (FTC) โดยก่อนการรวมธุรกิจตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กมี HHI เท่ากับ 5553.19 ซึ่งถือว่า ตลาดมีการกระจุกตัวสูงอยู่แล้ว 

และภายหลังการรวมธุรกิจค่า HHI ของตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กเพิ่มขึ้น จาก 5553.19 เป็น 6944.09 แสดงให้เห็นว่าตลาดมีการกระจุกตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันส่งผลให้ค่าการเปลี่ยนแปลงของค่า HHI ที่เกิดจากการรวมธุรกิจมีค่าเพิ่มขึ้น 1390.90 ซึ่งแสดงว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้นำตลาด  ก่อนรวมธุรกิจมีค่าการกระจุกตัว 5416.41 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวสูง และหลังการรวมธุรกิจมีค่าการกระจุกตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6896.60 จึงทำให้การรวมธุรกิจก่อให้เกิดการกระจุกตัวสูง 

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ภายหลังการรวมธุรกิจจะส่งผลให้ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กมีค่าการกระจุกตัวของตลาดที่สูงขึ้น  และอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญ 
 

2. การเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่และการขยายการผลิตของคู่แข่งขัน (Entry and Expansion) เนื่องจากธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนในการประกอบธุรกิจ ต่ำกว่าร้านค้าปลีกประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กจึงเป็นธุรกิจที่มีต้นทุนจมต่ำ ประกอบกับในปัจจุบันไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรัฐที่เป็นข้อจำกัดหรือ เป็นอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ 

ดังนั้น ธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กจึงเป็นธุรกิจ ที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่ำ ในส่วนของการขยายตัวของคู่แข่งขันในตลาด เนื่องจากตลาดร้านค้าปลีก ขนาดเล็กเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูง เห็นได้จากอัตราการขยายสาขาของผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ที่มีการขยาย สาขาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น 

ประกอบกับข้อจำกัดของการขยายสาขาของ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะประชากรในวัยทำงานที่มีรูปแบบชีวิตที่เร่งรีบ เน้นความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายสินค้า อีกทั้งการขยายตัวของชุมชนเมืองก็ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะขยายสาขาโดยเน้นรูปแบบร้านค้าปลีกขนาดเล็กคือร้านสะดวกซื้อมากขึ้น  เพื่อให้สามารถเติบโตไปตามที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นใหม่และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น 

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจ ในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงมีโอกาสเติบโตและสามารถขยายสาขาได้อย่างต่อเนื่อง 

3. ผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจ (Non-Coordinated Effect) การพิจารณาผลกระทบต่อการแข่งขันจากผู้ประกอบธุรกิจที่รวมธุรกิจจะพิจารณาว่า ภายหลังการรวมธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจที่รวมกันมีโอกาสที่จะใช้อำนาจตลาดในทางที่มิชอบ  เพื่อการลดหรือจำกัดการแข่งขันในตลาดอันเป็นผลเสียต่อคู่ค้าหรือคู่แข่งหรือไม่ โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนของผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) และผลกระทบต่อคู่แข่ง 

ทั้งนี้ ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบอาจเกิดขึ้นเนื่องจากผู้รวมธุรกิจและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในทุกตลาด ทั้งตลาดไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จึงนับเป็นช่องทางการกระจายสินค้า จากผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบไปยังผู้บริโภคที่สำคัญมาก จนอาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ จำเป็นต้องพึ่งพิงการประกอบธุรกิจกับผู้รวมธุรกิจและบริษัทในเครือ 

การรวมธุรกิจในครั้งนี้จึงส่งผลให้ผู้รวมธุรกิจ มีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบมากขึ้น 

และเนื่องจากผู้รวมธุรกิจมีการประกอบธุรกิจในระดับต้นน้ำ (เป็นผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้า อุปโภคบริโภค) ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจรตั้งแต่ร้านค้าส่งถึงร้านค้าปลีก ส่งผลเป็นการช่วยส่งเสริมธุรกิจให้มีความได้เปรียบเชิงแข่งขัน และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง 
 

จึงมีโอกาสที่ผู้รวมธุรกิจจะใช้อำนาจตลาดที่ตนมีในการตั้งเงื่อนไขการซื้อสินค้าจากคู่ค้า (ผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ) การใช้ข้อมูลการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้า หรือวัตถุดิบเพื่อใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า รวมถึงใช้มาตรการทางการค้าอื่นๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทในเครือ เช่น ขยายระยะเวลาในการจ่ายชำระค่าสินค้า (Credit Term) กับคู่ค้า  จ้างผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง (House Brand) และลดการซื้อสินค้าจากคู่ค้าเดิมของตน เป็นต้น 

ดังนั้น การรวมธุรกิจนี้ อาจส่งผลให้ผู้รวมธุรกิจมีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบมากยิ่งขึ้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า ผู้รวมธุรกิจจะใช้อำนาจตลาดและอำนาจต่อรองที่เพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบซึ่งผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ  

ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ผลิตสินค้า หรือวัตถุดิบรายใหญ่ 

สำหรับผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitor) เนื่องจากผู้รวมธุรกิจเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้าปลีกขนาดเล็กรายใหญ่ (อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซเพรส) โดยประกอบธุรกิจ ในลักษณะของกลุ่ม Chain Modern Trade กล่าวคือ มีศูนย์การบริหารจัดการอยู่ในกรุงเทพฯ และมีสาขา กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย การซื้อสินค้าจากผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบจึงเป็นการซื้อในปริมาณมาก 

จากปัจจัยข้างต้นส่งผลให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale) ซึ่งทำให้ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีต้นทุนที่ต่ำกว่าผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่เป็นคู่แข่ง และมีโอกาสที่ผู้รวมธุรกิจ จะใช้ประโยชน์จากการที่ต้นทุนต่ำกว่าในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของตนโดยการลดราคาสินค้า อีกทั้งผู้รวมธุรกิจจะมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ 

ดังนั้น การรวมธุรกิจนี้จะส่งผลให้ผู้รวมธุรกิจมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่าคู่แข่งขันรายอื่น และผู้ขออนุญาตยังมีเครือข่ายธุรกิจที่ครบวงจร ตั้งแต่ค้าส่งถึงค้าปลีกที่ส่งเสริมให้ธุรกิจของผู้ขออนุญาต มีความได้เปรียบในการแข่งขันและสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

ผมไม่ต้องอธิบายเพิ่ม แต่อยากให้พิจารณาในรายละเอียดของมติกันอย่างใจเป็นธรรมมากที่สุด เป็นธรรมต่อผู้เสนอรวมกิจการคือซีพี เป็นธรรมต่อซัพพลายเออร์ เป็นธรรมต่อร้านค้าปลีก ค้าส่ง เป็นธรรมต่อประชาชน