6 ขุนพลกนง. เอ็กซเรย์ 4 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย

08 ม.ค. 2564 | 01:00 น.

 

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,643 หน้า 10 วันที่ 10 - 13 มกราคม 2564

 

 

น่าสนใจอย่างมากสำหรับความเห็นและมุมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 6 ท่าน ประกอบด้วย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธปท., นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, นายคณิศ แสงสุพรรณ, นายรพี สุจริตกุล, นายสมชัย จิตสุชน และ นายสุภัค ศิวะรักษ์ ขณะที่อีก 1 ท่านลาประชุม ซึ่งล้วนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ระดับแถวหน้าของประเทศ ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย ภายหลังการระบาดของไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19 ระลอกใหม่ ในรายงานการประชุม กนง. เมื่อที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา 

ในรายงานการประชุมกนง. ฉบับนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป ในหลายประเด็น ซึ่งผู้เขียนขอสรุปเป็นข้อๆ ให้ผู้อ่านเห็นภาพ ดังนี้

1. การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังมีความไม่แน่นอนสูง หากสถานการณ์การระบาดรุนแรงจะกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยได้มาก โดยคณะกรรมการฯเห็นว่า การลงทุนด้านสาธารณสุขเชิงรุก ทั้งการตรวจ ติดตาม และคัดกรอง รวมถึงการลงทุนด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพียงพอ เพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของการระบาดซํ้าและสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น เป็นการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าและสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

2. การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยัง คงแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจและกลุ่มพื้นที่ อาทิ รายได้ของแรงงานอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร โดยการฟื้นตัวที่แตกต่างกันส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การใช้กลไกการคํ้าประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่อ (บสย.) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ตรงจุดและทันการณ์

 

 

 

 

นอกจากนี้แม้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะเพิ่มต้นทุนทางการคลังในระยะสั้น แต่จะช่วยพยุงการจ้างงาน เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว (scarring effects) ซึ่งช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้

3. ค่าเงินบาทยังเผชิญความท้าทายในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในระยะสั้น ตลาดการเงินโลกยังอยู่ในภาวะ risk-on และเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเร็วและกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ภาคธุรกิจจึงควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและเร่งปรับตัวเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเชิงมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะลดการพึ่งพาการแข่งขันด้านราคา 

คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (new FX ecosystem) เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมากขึ้น นักลงทุนไทยลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น ผู้ประกอบการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัว และผู้ให้บริการแข่งขันเพิ่มขึ้น

 

6 ขุนพลกนง.  เอ็กซเรย์ 4 ความท้าทายเศรษฐกิจไทย

 

 

4. มาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ การที่ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นในระยะปานกลางไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ 

เนื่องจาก (1) หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดอยู่ในระดับตํ่า (2) อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี (3) หนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาท และ (4) แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ราคาประจำปี (nominal GDP growth) สูงกว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของรัฐบาล 

 

 

 

 

นอกจากนี้ ไทยมีระดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ และมีมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ (stable outlook) คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตและเอื้อให้แนวโน้มหนี้สาธารณะต่อ GDP  ของไทยมีความยั่งยืนได้ 

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาปกติ รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลังผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และรายจ่าย เพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวต่อไป

ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่า เศรษฐกิจไทยหลังจากนี้มีความเสี่ยงและความท้าทายอะไรที่เราต้องเตรียมตัวรับมือ จากวิกฤติิิโควิดระลอกใหม่