ธปท.ชี้โควิดระลอกใหม่รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้

06 ม.ค. 2564 | 11:48 น.

ธปท.เผยโควิดระลอกใหม่รุนแรงเกว่าที่ประเมินไว้ เฉพาะต้นเดือนม.ค.64ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ “การบริโภคภาคเอกชน- ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว”

ธปท.เผยโควิดระลอกใหม่รุนแรงเกว่าที่ประเมินไว้ เฉพาะต้นเดือนม.ค.64ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ “การบริโภคภาคเอกชน- ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยว”ตามมาตรการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น พร้อมประเมินสถานการณ์อาจเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอนสูง
 
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนธันวาคม2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่  ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 รุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ความเสี่ยงด้านต่ำ (downside risks) มีโอกาสเกิดสูงขึ้น ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2564 และ 2565 จึงมีโอกาสที่จะต่ำกว่ากรณีฐาน โดยสถานการณ์ล่าสุด ณ วันที่ 4 มกราคม 2564 มีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดและประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งยังไม่มีกำหนดระยะเวลาของมาตรการที่แน่นอน  
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นตามมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดมากขึ้น ภาคบริการและภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงทั่วประเทศ สำหรับภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อย โดยอาจมีอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าบ้าง อย่างไรก็ดี พัฒนาการด้านการจัดซื้อวัคซีนของไทยมีความคืบหน้ามากกว่าที่ประเมินไว้ ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศการจัดซื้อวัคซีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มส่งมอบตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้การกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงอาจทำได้เร็วกว่าคาด รวมถึงยังมีแผนการจัดหาวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 50% ของประชากรภายในปี 2564
ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยระลอกใหม่ที่อาจเปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการฯ จะติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ทั้งข้อมูลสาธารณสุข ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน รวมถึงการสอบถามความเห็นผู้ประกอบการ (Business Liaison Program: BLP) เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายอย่างเหมาะสมต่อไป
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะหดตัว 3.8% ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวได้ที่ 4.8% และ 3.1% ในปี 2564 และปี 2565 ตามลำดับ ขณะที่ เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 6.6% น้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าคาดในเกือบทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าที่ทยอยปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นหลังการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ และการออกมาตรการภาครัฐซึ่งช่วยพยุงกำลังซื้อครัวเรือนสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2%โดยการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นที่  4.8% ตามข้อสมมติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวหลังมีการกระจายวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึงทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่ากรณีฐานโดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะต่ำกว่ากรณีฐานมาจาก (1) สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศอาจรุนแรงและลุกลาม  (2) ประสิทธิผลของวัคซีน COVID-19 อาจน้อยกว่าคาดและการกระจายวัคซีนอาจล่าช้ากว่าคาดจากข้อจำกัดด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าช้าออกไป (3) แรงกระตุ้นจากภาครัฐอาจน้อยกว่าคาด หากมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ (4) ฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการและอาจกลับมาฟื้นตัวช้าแม้การระบาดสิ้นสุดลง (scarring effects) และ (5) อัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนอาจเพิ่มสูงขึ้นมากภายหลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังเสถียรภาพระบบการเงิน