ปัจจัยหนุนเงินบาท “แข็งค่า”หลังธปท.เพิ่ม 2มาตรการ

06 ม.ค. 2564 | 09:02 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะผู้ส่งออกไทยรับมือเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าช่วงที่เหลือ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะผู้ส่งออกไทยรับมือเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าช่วงที่เหลือ

 ตามที่ธปท. ดำเนินการเพิ่มเติมใน 2 เรื่อง ได้แก่ คือ 1. การผ่อนคลายการทำธุรกรรมเงินบาทให้กับนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้าโครงการ NRQC (Non-resident Qualified Company)  และ 2. การปรับลดวงเงินคงค้างการปล่อยสภาพคล่องเงินบาทแบบไม่มีภาระ หรือไม่มี Underlying รองรับให้แก่ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (NR) โดยสถาบันการเงินในประเทศ โดยปรับลดวงเงินคงค้างเป็นไม่เกิน 200ล้านบาทต่อกลุ่ม NR ต่อสถาบันการเงิน จากเดิม 600 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการทั้ง 2 เรื่องพร้อมกันอาจจะช่วยลดสัดส่วนปริมาณการทำธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศ หรือ Offshore ลงจากที่มีสัดส่วนประมาณ 61% ในปี 2562  เนื่องจากอาจจะช่วยดึงธุรกรรมเงินบาทที่มี Underlying เกี่ยวกับด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งแต่เดิมเกิดขึ้นในตลาดต่างประเทศ กลับเข้ามาอยู่ในประเทศ เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลในส่วนนี้อย่างใกล้ชิด (ตามเกณฑ์ข้อ 1) ในขณะเดียวกันก็จะทำให้ธุรกรรมเงินบาทแบบไม่มี Underlying รองรับในตลาดต่างประเทศมีข้อจำกัดและทำได้ยากมากขึ้น (ตามเกณฑ์ข้อ 2)

 

แต่ในระยะสั้น โจทย์เฉพาะหน้าของภาคการส่งออกไทยที่จะต้องเตรียมรับมือทันที ก็คือ สถานการณ์ที่เงินบาทยังคงมีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่องอีกในระยะเวลาที่เหลือของปี 2564 (คาดการณ์เงินบาทที่กรอบ 29.00-29.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นปี 2564) ตามปัจจัยพื้นฐานของเงินบาท ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลและระดับการลงทุนที่ต่ำ รวมถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ทั้งนี้การเลือกใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งการทำสัญญา Forward สัญญา Options และการเปิดบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ อาจช่วยลดผลกระทบจากเรื่องที่ไม่แน่นอนลงไปได้ทางหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี โจทย์ใหญ่สำหรับภาคธุรกิจของไทยที่จะต้องเร่งปรับตัว จะยังคงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพื่อรักษาระดับมาร์จิ้นเพื่อความอยู่รอด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

อ่านฉบับเต็ม: ธปท. เดินหน้าปรบัระบบนิเวศตลาดอตัราแลกเปลี่ยน ...