ปริศนาการหายตัวของ “แจ๊ค หม่า”

05 ม.ค. 2564 | 22:46 น.

การล่องหนไร้ร่องรอยกว่า 2 เดือนของนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้ง "อาลีบาบา กรุ๊ป" เกี่ยวพันอย่างไรกับการล้มแผนทำ IPO เข้าตลาดเซี่ยงไฮ้และฮ่องกงของ "แอนท์ กรุ๊ป" รวมทั้งการเพ่งเล็งตรวจสอบอาณาจักรอาลีบาบาว่าเข้าข่ายผูกขาดตลาดหรือไม่

นายแจ๊ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับต้นของประเทศจีนด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 50,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจ “อาลีบาบา” หายตัวอย่างเป็นปริศนา โดยเขาไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะมาเป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว มีเพียงข้อความบนทวิตเตอร์ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2563

แจ๊ค หม่า

 

นอกจากนี้ เขายังไม่ปรากฏตัวในการถ่ายทำรายการ “แอฟริกา บิสิเนส ฮีโรส์” รอบชิงชนะเลิศเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาทั้งที่มีกำหนดนัดหมายไว้แล้ว โฆษกของอาลีบาบาพยายามอธิบายถึงสาเหตุที่หม่าไม่สามารถร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินในรายการดังกล่าว เป็นเพราะตารางเวลาที่จัดสรรไม่ลงตัว แต่โฆษกก็ไม่สามารถให้รายละเอียดใด ๆมากไปกว่านี้ โดยเฉพาะการตอบคำถามที่ว่า ตอนนี้เขาอยู่ที่ไหน

 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ แจ๊ค หม่า ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2563 วิพากษ์วิจารณ์ระบบระเบียบกำกับดูแลการเงินของรัฐบาลจีนว่า “ล้าหลัง” และเป็นอุปสรรคยับยั้งนวัตกรรม “เราไม่สามารถใช้วิธีการของวันวานมากำกับดูแลอนาคต”  หม่ายังเปรียบเทียบกฎกติกากำกับดูแลตลาดการเงินที่รัฐบาลจีนใช้อยู่ว่าเป็นเหมือนสโมสรของคนชรา เขามองว่า ระบบการเงินในปัจจุบันเป็นมรดกของยุคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเรื่องของยุคเก่า “เราต้องสร้างสิ่งใหม่สำหรับคนรุ่นต่อไปและคนรุ่นใหม่ เราต้องปฏิรูประบบปัจจุบัน”

 

หลังการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวไม่นานนัก แผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ)ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ของบริษัทแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคในเครืออาลีบาบา ที่หากเดินหน้าสำเร็จตามแผน เชื่อว่าจะเป็นการทำไอพีโอที่มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 39,700 ล้านดอลลาร์ ก็ถูกตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ระงับแผนแบบปุบปับก่อนหน้ากำหนดทำไอพีโอเพียง 2 วันในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ดับฝันของบรรดานักลงทุนที่แสดงความสนใจจองซื้อหุ้นของแอนท์ กรุ๊ปเป็นจำนวนมาก และทำให้แอนท์ กรุ๊ป ต้องล้มเลิกแผนทำไอพีโอในตลาดฮ่องกงตามไปด้วย

 

ต่อมาผู้บริหารของแอนท์ กรุ๊ป ยังถูกเรียกพบเพื่อหารือกับหน่วยงานกำกับดูแลของจีนที่ต้องการให้บริษัท ปรับโครงสร้างธุรกิจให้เล็กลง โดยให้ถอยไปทำเพียงธุรกิจบริการด้านการชำระเงินเหมือนเมื่อเริ่มแรกก่อตั้งเท่านั้น ทางการจีนต้องการให้แอนท์ กรุ๊ป ปรับแก้ไขแผนการดำเนินธุรกิจด้านการปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจประกัน และการบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากที่สุด พร้อมส่งสัญญาณว่า ธุรกิจของแอนท์ กรุ๊ป กำลังขยายตัว “มากจนเกินไปแล้ว” ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินของประเทศ

  

อาณาจักรอาลีบาบาถูกจับจ้องตรวจสอบหลังมีการร้องเรียนว่าบริษัทอาจผูกขาดตลาด

เคราะห์หามยามร้ายไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา “อาลีบาบา กรุ๊ป” ซึ่งแจ๊ค หม่า เป็นผู้ก่อตั้ง ยังถูกรัฐบาลจีนสืบสวนด้านการผูกขาดตลาด โดยทางการแจ้งว่า ได้รับร้องเรียนว่าบริษัทกำลังพยายามผูกขาดตลาดและกีดกันการแข่งขันของธุรกิจรายย่อย  

 

วิบากกรรมที่เกิดขึ้นกับอาลีบาบา และแอนท์ กรุ๊ป หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเพราะแจ๊ค หม่า ไปวิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎเกณฑ์ของรัฐบาลซึ่งเท่ากับเป็นการกระตุกหนวดเสือ แต่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่า ถึงหม่าไม่ได้พูดจาบจ้วงระบบหรือท้าทายรัฐบาลขนาดนั้น อย่างไรเสีย อาณาจักรธุรกิจของเขาก็ต้องถูกเพ่งเล็งและเล่นงานอยู่ดี ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาลีบาบานั้นเหมือนเสือติดปีกที่ใหญ่เกินไปจนอาจส่งผลกระทบต่อหน่วยงานหรือสถาบันของภาครัฐ

 

มาร์ค โมเบียส นักลงทุนระดับตำนานของสหรัฐ ให้ความเห็นกับรายการข่าวช่องซีเอ็นบีซี ว่าการขยับตัวของรัฐบาลจีนในเรื่องนี้ เป็นการตีกรอบ “จำกัด” สถาบันการเงินของเอกชนไม่ให้มีขนาดใหญ่จนเกินไป

 

“รัฐบาลจีนเพิ่งตื่นขึ้นมาพร้อมกับข้อเท็จจริงที่ว่าไม่อาจยอมให้บริษัทเอกชนเหล่านี้มีอำนาจเหนือภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งและโดยเฉพาะภาคการเงินของประเทศ” โมเบียสให้ความเห็น เพราะเหตุนี้ ทางการจีนจึงต้องเปิดการสอบสวนกรณีข้อร้องเรียนเรื่องการผูกขาดตลาดของอาลีบาบา รวมถึงการแจ้งให้ แอนท์ กรุ๊ปปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจ

 

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซงเพราะพวกเขาตระหนักแล้วว่า ต้องควบคุมดูแลบริษัทเอกชนเหล่านี้ ไม่ให้ใหญ่โตจนเกินไป”

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนของสำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งชาติจีน หรือ State Administration for Market Regulation (SAMR) ยังได้เปิดเผยภายหลังการตรวจสอบ พบว่า อาลีบาบา และบริษัทอื่น ๆ อาทิ เทนเซ็นต์ เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตและมีอำนาจมากเกินไป สำนักงานกำกับดูแลฯ ยังมีความกังวลว่า บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ครอบครองข้อมูลของชาวจีนนับหลายล้านคน ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งในแง่ของการช็อปปิ้งและการชำระเงินต่าง ๆ

 

แม้ว่าการหายตัวไปของแจ๊ค หม่า จะยังเป็นเรื่องคลุมเครือ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแน่แล้วก็คือ หน่วยงานของจีนกำลังเอาจริงกับการสอดส่องดูแลบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่อาจใหญ่จนเข้าข่ายผูกขาดตลาด หรือใหญ่จนยากต่อการควบคุมและกำกับดูแล

 

ข้อมูลอ้างอิง

Where is Jack Ma? Alibaba's billionaire founder hasn't been seen publicly in 2 months following China's crackdowns on his companies