ร้อง “บิ๊กป๊อก” เร่งจ่ายโบนัส-ค่าเสี่ยงภัยให้ข้าราชการกทม.-มท.9 หมื่นคน

05 ม.ค. 2564 | 05:52 น.

“วัชระ เพชรทอง” ยื่นเรื่องขอ “บิ๊กป๊อก” มท1 เร่งจ่ายเงินโบนัส-ค่าเสี่ยงภัยให้ข้าราชการกทม.-มท. จำนวน 9 หมื่นคน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจพนักงานที่เป็น “ด่านหน้า”ในการรับมือวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

5 ม.ค. 2564 เวลา 10.00น.ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นหนังสือผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีถึง พลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ เร่งจ่ายค่าโบนัสให้กับข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร และ พิจารณาเงินค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเติมให้กับคนงานที่มีความเสี่ยงภัยใกล้ชิดกับโรคโควิด-19 เช่นพนักงานกวาดถนน เก็บขยะ รักษาความสะอาดในหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร และกระทรวงมหาดไทย

 

นายวัชระ เพชรทอง (เสื้อสีม่วง) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีถึงพลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

โดยกรุงเทพมหานครได้ขอจัดสรรงบประมาณปีงบประมาณ 2564 เพื่อเป็นเงินรางวัลและเงินช่วยเหลือจำนวน 1,050 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในส่วนของงบกลางสำหรับจ่ายเงินโบนัสให้กับข้าราชการและลูกจ้างกรุงเทพมหานคร ที่ปัจจุบันมีประมาณ 90,000 คน  แบ่งเป็นข้าราชการ 30,000 คน ข้าราชการครู 10,000 คน และลูกจ้างอีก 50,000 คน โดยจะเสนออัตราการจัดสรรให้ในอัตรา 0.5 เท่าของเงินเดือน ซึ่งหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานครมีทั้งสิ้น 77 หน่วยงานมีผลการประเมินอยู่ในระดับดี-ดีมาก คะแนน 4.473-4.908 คะแนน จะได้รับอัตราการจัดสรรเงินรางวัลระดับหน่วยงาน 0.5 เท่าของเงินเดือน เมื่อคณะกรรมการเห็นชอบแล้ว ภายในเดือนธันวาคม 2563 กรุงเทพมหานครจะจัดสรรเงินโบนัสให้ทันที เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อไป

 

แต่ขณะนี้ล่วงเข้าเดือนมกราคม พ.ศ.2564 แล้ว สถานการณ์ โควิด – 19 กำลังระบาดอย่างหนักในกรุงเทพมหานคร บุคลากรของกทม.มีความเสี่ยงมาก เพราะต้องอยู่ใกล้ชิดพื้นที่โรคระบาด จึงต้องขอให้พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการเร่งรัดกรุงเทพมหานคร ให้จ่ายโบนัสกับข้าราชการและลูกจ้างประมาณ 90,000 คน โดยด่วนที่สุด และควรพิจารณาเพิ่มค่าเสี่ยงภัยโควิด-19 เพิ่มเติมให้พนักงานที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวข้างต้น จะเป็นการยุติธรรมต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีขวัญและกำลังใจในการทำงานเผชิญหน้ากับมหาภัยพิบัตินี้ต่อไป