เสียงจาก 3 บิ๊กเอกชน โอกาส-ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจไทยปี 64

01 ม.ค. 2564 | 01:45 น.

3 บิ๊กเอกชนชี้ขึ้นศักราชใหม่ 2564 ภาคธุรกิจ และภาพรวมประเทศไทยมีโอกาสและปัจจัยเสี่ยงแตกต่างจากปี 2563 ที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง ไปฟังกัน

รายงานพิเศษ โดย งามตา  สืบเชื้อวงค์

 

หลายคนจับตาและพยากรณ์ล่วงหน้าแล้วว่าครึ่งแรกปี 2564 จะเข้าสู่โหมดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบ 2  รอบนี้มีแนวโน้มหนักหน่วงเอาการ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น  และเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเกิดภาวะตื่นตระหนกมากขึ้นแม้จะผ่านโควิดรอบแรกมาแล้วก็ตาม  แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส  เมื่อบรรดานักธุรกิจมากประสบการณ์ในภาคการผลิตและส่งออกยังมีความหวังมองเห็น “โอกาส”การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากได้รับวัคซีนในช่วงครึ่งหลังของปี และคาดหวังว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในการกระตุ้นทางเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาดำเนินการได้

 

“ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลมุมมองจากคำสัมภาษณ์ระดับซีอีโอที่ส่วนใหญ่สะท้อนความกังวลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2564 ขณะเดียวกันต่างก็มีความหวังว่าครึ่งปีหลังปี 2564 ภาพรวมทาง เศรษฐกิจจะค่อย ๆ พื้นตัวได้

 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)  มองว่าปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงลำดับต้น ๆ โดยเฉพาะในช่วงของครึ่งปีแรก เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตคาดว่าจะได้รับรองผลที่ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี  ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีโอกาสของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งผลให้หนี้นอกระบบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ประสบกับปัญหา การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่อง ปิดกิจการ รวมทั้งการปลดแรงงาน เป็นต้น

 

อีกทั้งสถานการณ์การส่งออกที่ยังฟื้นไม่เต็มที่จากสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าสถานการณ์การส่งออกของไทยจะเผชิญกับปัญหาในเรื่องของค่าเงินบาทที่คาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ขาด ทำให้ผู้ส่งออกส่งมอบสินค้าไม่ทันตามกำหนดได้ เป็นต้น

 

นายสนั่นยังมีความกังวลถึงสถานการณ์ทางการเมือง ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค นักลงทุน กล่าวคือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงมีภาวะผันผวนอาจส่งผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนของธุรกิจ เนื่องจากนักธุรกิจต้องรอดูแนวนโยบายและมาตรการที่จะออกมาว่ามีความต่อเนื่อง และมีผลกระทบต่อธุรกิจหากจะมีการลงทุน เป็นต้น

 

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ต้องจับตาคือแนวนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจยังไม่มีความชัดเจนในการทำสงครามการค้ากับประเทศจีนต่อเนื่องหรือไม่

 

-เกิดโอกาสทางธุรกิจครึ่งปีหลัง

สำหรับโอกาสที่มีต่อธุรกิจต่อประเทศนั้น ซีอีโอศรีไทยฯมองว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวจากสถานการณ์ โควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีนในช่วงของครึ่งหลังของปี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ อาทิ เช่น การขนย้ายคน การขนย้ายสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ทั้งนี้เนื่องจากการป้องกัน โควิด-19 และแนวนโนบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศจีน   และการที่สหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ คือ นายโจ ไบเดน ซึ่งคาดว่าจะทำให้การค้าโลกและเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น

 

-มั่นใจส่วนใหญ่ยังเดินหน้าธุรกิจได้

นายสนั่นกล่าวอีกว่าในมุมมองของนักธุรกิจส่วนใหญ่ มีความหวังต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าจะต้องเดินหน้าต่อไปได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านต่างๆ ก็ตาม และหากพิจารณาจากปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ในปี 2564 ธุรกิจน่าจะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีการฟื้นตัว รวมทั้งโอกาสของการเปิดประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย

 

เสียงจาก 3 บิ๊กเอกชน โอกาส-ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจไทยปี 64

                                      สนั่น  อังอุบลกุล

 

“สิ่งที่เป็นปัจจัยบั่นทอนและทำให้นักธุรกิจอาจชะลอการลงทุน เพื่อดูสถานการณ์ ทางการเมืองที่มีความไม่แน่นอน”

 

ซีอีโอศรีไทยฯมั่นใจว่า ตามปัจจัยลบที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่น่าจะทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก เชื่อว่าในอุปสรรคย่อมมีโอกาส และหากเราผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้ย่อมที่จะเป็นผู้นำตลาดในอนาคตได้เช่นกัน

 

 

เสียงจาก 3 บิ๊กเอกชน โอกาส-ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจไทยปี 64

                                     รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

 

-โควิดกระทบเศรษฐกิจเชิงลึก

สอดคล้องกับที่นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี  มองว่าปี 2564 ปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องรับมือ ยังเป็นสถานการณ์ โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบเศรษฐกิจเชิงลึก ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจเปราะบางลง รวมถึงเสถียรภาพการเมือง จึงต้องมีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และคงความสามารถทางการเเข่งขันไว้ได้ ตลอดจนยังมีความไม่แน่นอนจาก เงินบาทเเข็งค่า ซึ่งต้องประเมินและป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก การฟื้นตัวยังคงไม่แน่นอนและใช้เวลานาน สำหรับประเทศไทยบริหารจัดการได้ดี แม้ต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่นี้ แต่ก็นับว่ายังอยู่ในสถานะที่ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจและภาครัฐในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้กลับมาได้เร็วกว่าประเทศอื่น เช่น การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้รองรับและพร้อมสำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

 

 

-ต้นปี2564พิษโควิดยังร้อนแรง

ด้านนายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มองว่าในปี 2564  ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจะยังคงมีอยู่เหมือนปี 2563 ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไล่ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง  แต่หากการทดลองใช้วัคซีนทั้งของสหรัฐอเมริกาและของประเทศจีนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะทำให้การติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสอง ไม่กระจายตัวอย่างรวดเร็วเหมือนเช่นปัจจุบัน แต่จะยังไม่สามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจให้กระเตื้องขึ้นได้อย่างปัจจุบันทันด่วน และมองว่ากว่าเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจะสามารถตั้งตัวได้ คงต้องใช้เวลาอีกตลอดทั้งปี 2564

 

ส่วนการส่งออกมองว่า จะยังคงมีปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะกำลังซื้อหลักที่มาจากคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยกันหมด ทำให้ประชาชนในประเทศเหล่านี้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น

 

ขณะที่ค่าระวางขนส่งทางเรือ ที่กำลังเป็นปัญหาเพราะแพงมาก เนื่องจากความต้องการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการลดลง การค้าสินค้าฟุ่มเฟือยยังคงลดลง จึงทำให้การปรับราคาค่าขนส่งยังไม่ลดลงในเวลาอันใกล้ จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก

 

สำหรับภาคบริการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก จะยังคงซบเซาจากพิษภัยของโควิด-19 อยู่มองโดยรวมจะพบว่าในภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว ปี 2564 จะเป็นปีที่ยากลำบากมาก ๆ เพราะเหตุจากการระบาดของโควิด-19

 

นอกจากนี้การเดินทางทางอากาศที่หยุดนิ่งสนิท รวมทั้งค่าขนส่งที่แพงอย่างก้าวกระโดด จึงเป็นอุปสรรคหลักของการส่งออกและการท่องเที่ยวอย่างมาก ดังนั้นในช่วง Q1-Q3 ปี 2564 จึงเป็นช่วงของความยากลำบากของธุรกิจทั้งสองกลุ่มนี้

 

เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะย่ำอยู่กับที่ อาจจะส่งผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่คนไม่สามารถอดกลั้นต่อดอกเบี้ยที่ต้องแบกรับไว้ได้ จะต้องมีการผ่องถ่ายออกมา จึงส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ที่กำลังจะออกมาสู่ตลาด ยากที่จะทำราคาสูงขึ้นได้

 

เสียงจาก 3 บิ๊กเอกชน โอกาส-ปัจจัยเสี่ยงธุรกิจไทยปี 64

                                       กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

-สินค้าอุปโภคพื้นฐานมีความต้องการมากขึ้น

ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา มองอีกว่า ธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสดี ในปี 2564 จะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรค เพราะคนจะหันมามองเรื่องของสุขอนามัยและความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นธุรกิจนี้จะยังคงเป็นดาวเด่นอยู่

 

ส่วนธุรกิจสินค้าอุปโภคพื้นฐานยังมีความต้องการสูง   เพราะคนทั่วไปจะเข้าไปจับจ่ายให้ห้างหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตน้อยลง ยังคงหาซื้อมาเก็บตุนไว้ที่บ้านมากกว่า สินค้าอุปโภคจะยังคงมีบทบาทที่สำคัญของตลาดในปี 2564 แต่สินค้าประเภทนี้ควรจะเป็นสินค้าที่ราคาไม่สูง น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด และสินค้าที่สามารถเก็บรักษาได้นาน ให้เหมาะสมกับสภาวะในปัจจุบัน ดังนั้นในปี 2564 สินค้าประเภทนี้จะเป็นพระเอกต่อไป

 

เช่นเดียวกับโอกาสทาง ธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นธุรกิจปลายน้ำของการค้าทั่วไป ในปี 2564 จะมีความสำคัญต่อการค้าในสภาวะที่คนไม่อยากจะออกนอกบ้าน จำเป็นจะต้องอาศัยโลจีสติกส์จากผู้ให้บริการภายนอก

 

“เชื่อว่าในปี 2564 ทางรัฐบาลคงจะมีนโยบายอื่น ๆ ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกแน่นอน และต้องดูว่าโปรโมชั่นใหม่นี้จะมีความรุนแรงเพิ่มจากเดิมอีกหรือไม่”