บช.น. เตือน แก๊งต่างชาติใช้ Instagram หลอกโอนเงินระบาด

31 ธ.ค. 2563 | 08:18 น.

บช.น. เตือนภัย พบแก๊งชาวต่างชาติใช้บัญชี Instagram แอบอ้าง หลอกให้โอนเงินหรือเอาข้อมูลส่วนตัว

31 ธันวาคม 2563 - กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ระบุว่า ขณะนี้พบมีประชาชนร้องเรียนเข้ามา ว่ามีบัญชี Instagram ที่แอบอ้างตนเป็นบุคคลอื่น หลอกขอข้อมูลส่วนตัวของประชาชน อ้างว่าจะนำไปทำบัตรสมาชิกที่มีสิทธิพิเศษ ซึ่งมีประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก โดยจากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าว น่าจะเป็นชาวต่างชาติ มีรูปแบบการหลอกขอข้อมูลเหยื่อโดยคนร้ายจะสร้าง Instagram ขึ้นมา หลังจากนั้นจะโพสต์ภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวไทยเพื่อแอบอ้างเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวไทยลงใน Instagram เพื่อให้ผู้เสียหายเข้ามากดติดตามหรือคนร้ายจะทำทีไปกดติดตามผู้เสียหายเพื่อหาเหยื่อ หลังจากนั้นกลุ่มมิจฉาชีพจะติดต่อพูดคุยกับผู้เสียหาย หลอกขอข้อมูล ชื่อ- สกุล, เลขบัตรประจำตัวประชาชน, วันเดือนปีเกิด, เบอร์โทรศัพท์ ของผู้เสียหาย โดยอ้างว่าจะนำไปทำบัตรสมาชิก ที่มีสิทธิพิเศษซึ่งสามารถเข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญได้ทุกที่ทุกเวลาและผู้ถือบัตรสมาชิกยังจะสามารถเดินทางไปได้ ๒๗ ประเทศโดยไม่ต้องมีวีซ่า 

นอกจากนี้ ยังจะให้บุคคลที่มีชื่อเสียงลงนามในบัตรดังกล่าวด้วย เมื่อมีผู้หลงเชื่อตกลงทำบัตรสมาชิก กลุ่มมิจฉาชีพจะได้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญของผู้เสียหายเพื่อนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี

บช.น. เตือน แก๊งต่างชาติใช้ Instagram หลอกโอนเงินระบาด

ดังนั้น กองบังคับการปราบปราม จึงขอฝากเตือนและประชาสัมพันธ์ประชาชน ให้ระวังการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เนื่องจากอาจจะมีกลุ่มคนร้ายที่เเอบอ้างตนเป็นผู้ที่มีความชื่นชอบบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวไทยทำทีไปขอติดตามบัญชีของท่าน จากนั้นจะหลอกขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี ซึ่งหากท่านพบพฤติการณ์การกระทำในลักษณะดังกล่าวขอให้ท่านตรวจสอบข้อมูลและความน่าเชื่อถือให้ดีเสียก่อน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนร้าย

สำหรับวิธีการสังเกตบัญชี social media ที่ต้องสงสัย มีดังนี้

๑. บัญชีต้องสงสัยจะมีการแท็กหรือถูกแท็กจากชาวต่างชาติในลักษณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่โพสต์

๒. บัญชี Instagram ต้องสงสัยจะโพสต์เนื้อหาเกี่ยวกับคนไทยแต่ผู้ติดตามจะเป็นชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด

๓. หากย้อนดูลักษณะการโพสต์จะพบว่ามีความไม่ต่อเนื่องของเนื้อหา เช่น โพสต์ครั้งแรกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา ต่อมากลับมีการเริ่มโพสต์ใหม่ แต่เปลี่ยนรูปแบบของสิ่งที่โพสต์
 
๔. มักมีการใช้ภาษาไทยคล้ายกับการแปลมาจากภาษาอังกฤษและมีรูปแบบไวยากรณ์ที่ผิดหลักภาษา