โควิดอานุภาพ โลกสะท้าน‘ไทย’สะเทือน

01 ม.ค. 2564 | 03:50 น.

โรคอุบัติใหม่เชื้่อไวรัสโควิด-19 แผลงฤทธิ์ยืดเยื้อระบาดลาม 220 ประเทศทั่วโลก ถึงสิ้นปี 2563 ติดเชื้อแล้ว 81.66 ล้านคน สังเวยทะลุ 1.78 ล้านชีวิต ขณะรัฐบาลแต่ละประเทศงัดมาตรการเข้มป้องกันตัว คำสั่งปิดบ้านปิดเมืองทำเศรษฐกิจหัวคะมำ จีดีพีโลกหัวทิ่ม -4.7% มากสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ความทุกข์ยากแผ่ซ่านผู้คนสูญเสียอาชีพ-รายได้กันถ้วนหน้า คนจนพุ่งสูงทั่วโลก

 นับแต่ปิดเมืองอู่ฮั่นต้นปี 2563 ไทยถูกจับตาว่าเสี่ยงสุดของโลก 8 ม.ค. 2563 ไทยเจอผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นนักท่องเที่ยวจีน  เป็นผู้ติดเชื้อนอกจีนรายแรกของโลก ทันทีที่ยืนยันชัดว่าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ความโกลาหลเกิดขึ้นทันที ผู้คนแห่ตุนหน้ากากอนามัย ยาฆ่าเชื้อ อาหาร ของใช้อุปโภคบริโภค ตลอดจนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่หายวับจากตลาด จากภาพ“เมืองร้าง”ในจีนที่ใช้มาตรการเข้มข้น“ล็อกดาวน์”ทั่วประเทศ

รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข ใช้อำนาจตามพ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินออกมารับมือ ทั้งประกาศเคอร์ฟิว สั่งปิดตลาด ห้างร้าน กิจการเสี่ยงต่าง ๆ จากสถานการณ์การระบาดที่ยกระดับขึ้นเป็นลำดับ เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน อาทิ กลุ่มสนามมวย กลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มพิธีกรรมทางศาสนา สาธารณสุขไทยประกาศใช้มาตรการ “เว้นระยะ สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ”คัดกรองวัดอุณหภูมิ และให้ประชาชนร่วมมือ“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ระบบสาธารณสุขไทย และความร่วมมือของประชาชน ในที่สุดการระบาดระลอกแรกค่อยสงบลงเมื่อกลางปี 2563 แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ เมื่อการระบาดยังเป็นขาขึ้นทั่วโลก และย้อนกลับมาท้าทายเป็นระลอก ขณะที่มีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน รัฐบาลต้องทุ่มทรัพยากรการเงินมาดูแล ทั้งผันเงินจากงบรายจ่ายประจำปีแล้วยังต้องกู้เงินก้อนใหญ่ 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้รับมือ โควิดอานุภาพ  โลกสะท้าน‘ไทย’สะเทือน

 

ทุ่ม“เยียวยา-กระตุ้น”

หลังการจู่โจมของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลได้ออกมาเยียวยา บรรเทาผลกระทบด้วยการแจกเงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (รวมผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 กลุ่มที่ไม่มีนายจ้าง) ผ่านโครงการ เราไม่ทิ้งกัน รวม 15 ล้านคน เป็นเงิน 2.25 แสนล้านบาท และเยียวยากลุ่มเปราะบางเดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน รวม 13 ล้านคนเป็นเงิน 39,000 ล้านบาท โดยผู้พิการจะได้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ได้รับคนละ 3,000 บาท เป็นเงิน 43,500 ล้านบาท ล่าสุดครม.มีมติที่จะเพิ่มเงินให้กับผู้ถือบัตรอีกคนละ 500 บาทเป็นเวลา 3 เดือน รวมเป็น 21,750 บาท ส่วนเกษตรกร ได้พักนี้เงินเยียวยาอีกครอบครัวละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ได้สิทธิ 7.56 ล้านราย รวมเป็นเงิน 1.13 แสนล้านบาท

ลูกจ้างประกันสังคม (ผู้ประกันตน มาตรา 33) ได้รับการลดอัตราส่งเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน รายที่ถูกปิดงานขาดรายได้ ให้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยว่างงานกรณีเหตุฉุกเฉินในอัตรา 62% ของค่าจ้าง ฐานเงินเดือนไม่เกิน15,000 ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งมีผู้ยื่นใช้สิทธิ์ 1.26 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากกองทุนประกันสังคม ควบคู่ไปกับดูแลลูกหนี้สถาบันการเงิน เฉพาะหน้าให้พักชำระหนี้ อัดซอฟท์โลน และผ่อนเกณฑ์ต่างๆ เร่งให้ปรับโครงสร้างหนี้ขนานใหญ่ เพื่อไม่ให้ไถลเป็นหนี้เสียที่จะกลายเป็นปัญหาของระบบสถาบันการเงิน 

 

ดับฟันท่องเที่ยวไทย

ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องเป็นกลุ่มที่เจอผลกระทบไวรัสโควิด-19 โดยตรง และยืดเยื้อตลอดช่วงการระบาด รัฐบาลใช้งบกว่า 22,400 ล้านบาท กระตุ้นท่องเที่ยวภายในประเทศ ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ใช้งบ 20,000 ล้านบาท อุดหนุนค่าที่พัก ให้อี-เวาเชอร์ ซื้อของ สมทบค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นมูลค่า .3 หมื่นล้านบาท 5.43 พันล้านบาท และ  752.86 ล้าน รัฐให้ขยายจองที่พักอีก 1 ล้านคืน และเปิดให้ใช้ไปถึง 30 เม.ย. 2564  ส่วนโครงการกำลังใจ ใช้งบ 2,200 ล้านบาท ให้อสม.และเจ้าหน้าที่รพ.สต. 1.2 ล้านคนเที่ยวฟรี ไม่เกินคนละ 2 พันบาท ใช้สิทธิ 6.77 แสนคน เป็นงิน 1.32 พันล้านบาท

แม้รัฐอัดฉีดเต็มที่แต่ช่วยได้เพียงพยุง ท่องเที่ยวไทยสูญเสียมากสุดเป็นประวัติการณ์ ปิดท้ายปีนี้รายได้ท่องเที่ยวหายวับ 74.2% จากเดิมก่อนมีโควิด-19 ตั้งเป้าไว้ถึง 3.2 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 832,400 ล้านบาท หรือเทียบปีก่อนหน้าที่เคยทำได้ 3.06 ล้านบาท เท่ากับสูญเสียไป 2.2 ล้านล้านบาท โควิด-19 จึงมาดับฝันธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างแท้จริง

 

ส่งออกมีลุ้นสินค้ารุ่ง-ร่วง

โควิด-19 ยังกระหนํ่าภาคส่งออกโดยกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญที่ได้รับผลกระทบมูลค่าส่งออกติดลบ เป็นกลุ่มสินค้าชิ้นใหญ่ ไม่จำเป็นเร่งด่วน หรือกลุ่มการผลิต ได้แก่ รถยนต์นั่ง (-21%) อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ(-42%) สิ่งทอ(-18%) เครื่องนุ่งห่ม (-18%) ยางพารา (-19%) วัสดุก่อสร้าง รองเท้า กระเป๋าเดินทาง เป็นต้น

แต่ก็มีสินค้ากลุ่มที่บุญหล่นทับ มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด อยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นและเข้ากับสถานการณ์ ได้แก่ ถุงมือยาง(+84%) เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์(+4%) นํ้ายางข้น(+7%) มันเส้น (+18%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ Work From Home (+15%) อาหารและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โควิดอานุภาพ  โลกสะท้าน‘ไทย’สะเทือน

ภาพรวมการส่งออกไทยปีนี้จากที่ติดลบหนักในไตรมาส 2(เม.ย.-มิ.ย.) ที่หดตัว 15.2 %ตํ่าสุดรอบ 5 ปี มีผลกระทบโดยตรงจากช่วงล็อกดาวน์ จากนั้นกระเตื้องขึ้น ทำให้คาดการณ์ส่งออกทั้งปีจะติดลบ 6-7% และปีหน้าจะขยายตัวเป็นบวกได้ 4 % จากกลยุทธ์ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน ที่เตรียมบุกตลาดด้วย 343 กิจกรรมปีฉลู หากการระบาดจะคลี่คลายลงเป็นลำดับ

 

ห้าง-ค้าปลีกยังมึน

โควิด-19 ยังช็อกวงการค้าปลีก ที่ช่วงล็อกดาวน์ตั้งแต่ 22 มีนาคม 2563 ยาวกว่า 50 วัน ทำให้ห้างและศูนย์การค้านับ 1,000 แห่ง ต้องยุติการให้บริการชั่วคราว ถือเป็นการปิดครั้งประวัติศาสตร์นับแต่มีห้างเมืองไทย แม้บางพื้นที่เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านขายยาร้านสะดวกซื้อร้านอาหารและเครื่องดื่ม ยังให้บริการเฉพาะจัดส่งและซื้อกลับบ้านได้ แต่ก็ชกระทบธุรกิจค้าปลีกที่มีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาทอย่างสาหัส แม้คลายล็อกแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มา เวลานี้ ห้างและศูนย์ขนาดใหญ่ ยังไม่ฟื้นแบบ 100% คาดค้าปลีกปีนี้ติดลบครั้งแรก 

 

โลกปรับไทยเปลี่ยน

อีกด้านของโควิด-19 เร่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งวิถีชีวิต วิธีดำเนินธุรกิจ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ ๆ  แล้วยังเป็นตัวเร่งให้ e-Payment กลายเป็น new normal ที่ทำให้ไทยเราก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้เร็วยิ่งขึ้น ธปท.รายงานว่า ปริมาณธุรกรรมการใช้ e-Payment เดือนกันยายน 2563 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาเฉลี่ยที่ 180 รายการ/คน/ปี จากปี 2561 เฉลี่ยที่ 89 รายการ/คน/ปี ธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกช่องทาง โดยเฉพาะ  internet & mobile banking ที่มีทั้งสิ้น 99.4 ล้านบัญชี มีปริมาณธุรกรรม 854.7 ล้านธุรกรรม เพิ่มขึ้น 66.1% คิดเป็นมูลค่า 5.54 ล้านล้านบาท ขณะที่การใช้เช็คและการถอนเงินสดผ่าน ATM และผ่านเคาน์เตอร์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โควิดอานุภาพ  โลกสะท้าน‘ไทย’สะเทือน

 โควิด-19ยังสร้างเซอร์ไพรส์ไม่หยุด ความหวังเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่องหลังคลายล็อกถูกกระตุกกลับ เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่เมื่อ

ต้นธันวาคม ดับฝันการท่องเที่ยวและจับจ่ายฉลองปีใหม่ ให้ต้องกลับสู่โหมด“ยกการ์ดสูง”อีกครั้ง เพื่อลุ้นผลว่ารับปีฉลู 2564 สาธารณสุขไทยจะโชว์ฝีมือ “คุมเชื้อ” โควิด-19 ได้อีกครั้งหรือไม่

  แต่ที่แน่ๆ โควิด-19 แผลงฤทธิ์ให้โลกสะท้าน ไทยสะเทือน และกลายเป็นหลักหมายแบ่งยุคสมัยของโลกไปเรียบร้อยแล้ว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564