องค์กรสิทธิมนุษยชนค้านบังคลาเทศนำชาวโรฮิงญาไปปล่อยเกาะ

30 ธ.ค. 2563 | 13:52 น.

โครงการจัดหาถิ่นพำนักให้ชาวโรฮิงญาโดยรัฐบาลบังคลาเทศ กำลังถูกคัดค้านหนักจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานที่ที่ชาวโรฮิงญาจำนวนนับพันคนถูกโยกย้ายไปนั้น เป็นเกาะโดดเดี่ยวในอ่าวเบงกอลที่ไม่เคยมีใครอยู่อาศัยมาก่อน เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้น น้ำทะเลก็ท่วมทั้งเกาะ

 

ต้นสัปดาห์นี้ (28 ธ.ค.) รัฐบาลบังคลาเทศ นำ ชาวโรงฮิงญาอพยพ กลุ่มที่สองไปพำนักที่ชุมชนเกิดใหม่ที่ทางการบุกเบิกสร้างสาธารณูปการพื้นฐานเอาไว้ให้บน เกาะ “บาซัน ชาร์” (Bhasan Char) ซึ่งเป็นเกาะโดดเดี่ยวในอ่าวเบงกอลที่ไม่เคยมีประชากรอยู่อาศัยบนเกาะมาก่อน แต่ทางการบังคลาเทศโดยปฏิบัติการของกองทัพเรือ ได้เข้ามาเตรียมการสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเล สุเหร่า โรงพยาบาล และบ้านพักอาศัยเอาไว้ให้ชาวโรงฮิงญาอพยพแล้ว โดยมีการอพยพชาวโรงฮิงญากลุ่มแรกกว่า 1,642 คนจากศูนย์ผู้อพยพค็อกซ์ บาซาร์ มายังเกาะแห่งนี้เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค. จากนั้นกลุ่มที่สองก็ตามมาต้นสัปดาห์นี้ (28 ธ.ค.) แม้ว่ากระแสเสียงคัดค้านจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

กองทัพเรือบังคลาเทศเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเตรียมชุมชนและสาธารณณูปการพื้นฐานบนเกาะบาซัน ชาร์ สำหรับรองรับผู้อพยพชาวโรฮิงญาได้ถึง 1 แสนคน

โดยองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ องค์กรนิรโทษกรรมสากล และองค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ได้ออกมาคัดค้าน ขอให้รัฐบาลบังคลาเทศยุติโครงการดังกล่าวโดยระบุว่า เกาะบาซัน ชาร์ ซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ราว 34 กม. และต้องนั่งเรือไปเป็นเวลาหลายชั่วโมงนั้น เป็นเกาะที่เพิ่งโผล่พ้นน้ำทะเลมาเมื่อ 20 ปีที่แล้วนี้เอง ไม่มีความเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย ที่ตั้งอยู่บนเส้นทางของพายุไซโคลนปีละหลายลูก เกิดน้ำท่วมได้ง่ายและบ่อยครั้ง อีกทั้งเมื่อถึงช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูง ทั้งเกาะอาจถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาเหล่านี้จะถูกชักจูงโน้มน้าวให้อพยพมายังเกาะแห่งนี้โดยไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง  

 

องค์กรเอ็นจีโอระหว่างประเทศเหล่านี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ชาวโรฮิงญาที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะแห่งนี้อาจไม่ได้มาโดยเต็มใจ และพวกเขาหวังว่ารัฐบาลบังคลาเทศจะเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบเกาะแห่งนี้โดยองค์กรอิสระ

 

เกาะบาซัน ชาร์ อยู่ในอ่าวเบงกอล ห่างจากแผ่นดินใหญ่ราว 34 กิโลเมตร

นายซาอัด ฮัมมาดี หัวหน้าโครงการประจำภาคพื้นเอเชียใต้ขององค์กรนิรโทษกรรมสากล เปิดเผยว่า ความห่วงกังวลเกี่ยวกับโครงการอพยพชาวโรฮิงญามายังเกาะบาซัน ชาร์นั้น เกิดจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เช่นสิทธิในการเข้าถึงสถานพยาบาล หรือเสรีภาพในการเดินทางของชาวโรฮงญาระหว่างเกาะดังกล่าวกับศูนย์อพยพที่พวกเขาเคยอยู่  ขณะที่องค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ แถลงว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่บนเกาะบาซัน ชาร์ มีจำกัดจำเขี่ยมาก นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทางการอาจให้ข้อมูลที่ทำให้ชาวโรฮิงญาเข้าใจผิดถึงได้ยอมอพยพมาหรือไม่ก็อาจมีการให้สิทธิประโยชน์ล่อใจมา

 

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ของบังคลาเทศได้ออกมาปฏิเสธแล้ว โดยนายอับดุลเลาะห์ อัล มามัน โชดูรี นายตำรวจอาวุโสซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงการชุมชนเกาะบาซัน ชาร์ เปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า ในวันที่ 28-29 ธ.ค. มีการอพยพชาวโรงฮิงญากลุ่มที่สองมาอีกประมาณ 700 – 1,000 คน เพิ่มเติมจากกลุ่มแรกที่มาต้นเดือนธ.ค.กว่า 1,600 คน เขาเชื่อว่าชุมชนมีความพร้อมสำหรับผู้อพยพโรฮิงญา นอกจากนี้ นายมอสตาฟิเซอร์ ราห์มัน เอกอัครราชทูตบังคลาเทศประจำสหประชาชาติในกรุงเจนีวา ได้ออกมายืนยันว่า ผู้อพยพทุกคนมาที่เกาะโดยสมัครใจ รัฐบาลได้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับพวกเขาเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความปลอดภัย ทั้งนี้ มีการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสาธารณูปโภคต่าง ๆบนเกาะรวมทั้งเขื่อนกันน้ำทะเลความยาว 12 กม. เพื่อป้องกันน้ำท่วมวงเงินกว่า 112 ล้านดอลลาร์     

 

นับตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 มีชาวโรฮิงญาอพยพหนีภัยจากประเทศเมียนมาเข้ามาอยู่ที่ศูนย์อพยพค็อกซ์ บาซาร์ในบังคลาเทศ จนถึงขณะนี้มีจำนวนราว 700,000 คน ชุมชนโรงฮิงญาเกาะบาซัน ชาร์ จะสามารถรองรับชาวโรฮิงญาจากศูนย์อพยพแห่งนี้ได้ราว 100,000 คน บริษัทรับเหมาก่อสร้างเปิดเผยกับสื่อท้องถิ่นว่า บ้านพักอาศัยบนเกาะเป็นอาคารคอนกรีตที่สามารถพักอาศัยได้หลายครอบครัว มีความทันสมัย มีถนน โรงเรียน และสุเหร่า ระบบไฟฟ้าใช้พลังงานจากแสงแดด มีระบบน้ำประปา และอาคารพักชั่วคราวในฤดูกาลที่มีพายุไซโคลน

 

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนต่างชาติยังไม่ได้รับอนุญาตให้มาเยือนเกาะแห่งนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยูเอ็นเผย 'เมียนมา' ไม่พร้อม "รับโรฮิงญากลับประเทศ"

บังกลาเทศวอนต่างชาติช่วยอพยพชาวโรฮิงญา

'อียู' จ่อ คว่ำบาตร 'เมียนมา' เซ่นวิกฤตโรฮิงญา