คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (จบ)

02 ม.ค. 2564 | 00:30 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (จบ) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3641 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3 – 6 ม.ค.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

มาติดตามประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงถึง มติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท

 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียวรนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

 

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าบอกว่า ไม่ผูกขาดแม้มีอำนาจเหนือตลาด

 

และเจ้าสัวธนินทร์ก็บอกว่าไม่ผูกขาด เพราะว่า “แม็คโคร คือ ค้าส่งที่เน้นการขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วน “เทสโก้ โลตัส” จะเป็นค้าปลีก ขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น เน้นเป็นร้านสะดวกซื้อ” คือ ใกล้บ้าน 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกเขาไม่เอามาบวกกัน”

 

“เซเว่นอีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครขายส่ง ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าบิ๊กซี กับเทสโก้ โลตัส แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อเขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ผมซื้อเทสโก้ โลตัส มาก็เป็นคู่แข่งกันเหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือคนไทย คนข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่า มันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง”

 

ในตอนนี้ผมจะนำคำวินิจฉัยกลางของ กขค.ว่าด้วย ขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการรวมธุรกิจค้าปลีก กขค.พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ขออนุญาต และผู้ถูกรวมธุรกิจเป็นผู้ประกอบธุรกิจในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ สินค้าอุปโภคบริโภคที่มีสาขากระจายอยู่ใน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีการกำหนดราคาสินค้าและรูปแบบการให้บริการจากสำนักงานใหญ่ในส่วนกลาง  เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เช่นเดียวกับผู้ประกอบธุรกิจคู่แข่งรายอื่นในตลาด ซึ่งการกำหนดขอบเขตตลาดภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องในระดับจังหวัดหรือระดับประเทศ จึงไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในเรื่องของรูปแบบการให้บริการและส่วนแบ่งตลาด

ดังนั้น  กขค.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ขอบเขตตลาดด้านภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการรวมธุรกิจครั้งนี้คือ ขอบเขตตลาดในระดับประเทศ

 

เรื่องต่อมาที่จะต้องพิจารณาคือ การนับส่วนแบ่งตลาดและยอดขายของผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการรวมธุรกิจก่อนการรวมธุรกิจและหลังการรวมธุรกิจ ตามประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

 

การพิจารณาตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการรวมธุรกิจ พบว่า...

 

ในตลาดร้านค้าปลีก สมัยใหม่ประเภทร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบธุรกิจร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด  คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 46.79

 

รองลงมา คือ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์/เอ็กซ์ตร้า  และท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 38.56 และ 1.89 ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาด ของผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรก ในตลาด (CR3) เท่ากับร้อยละ 87.24

 

ดังนั้น ตลาดร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต  จึงมีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด เพียง 2 ราย คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า กับ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ /เอ็กซ์ตร้า

 

ส่วน ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าร้อยละ 10 ทำให้การรวมธุรกิจในครั้งนี้ ไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตแต่อย่างใด

 

และเมื่อพิจารณาตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ประเภทร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบธุรกิจร้านซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ ท็อปส์ มาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 26.21 รองลงมา คือ ตลาดโลตัส และวิลล่า มาร์เก็ต มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 15.79  และ 4.88 ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาด (CR3) เท่ากับ 46.88

ดังนั้น ตลาดร้านซูเปอร์มาร์เก็ต จึงไม่มีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด และการรวมธุรกิจในครั้งนี้ไม่ส่งผลให้เกิด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดร้านซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นเดียวกัน

 

สำหรับตลาดที่มีความทับซ้อนกันของผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจคือ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งก่อนการรวมธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ เซเว่น อีเลฟเว่น มีส่วนแบ่งตลาด ร้อยละ 73.60 รองลงมา คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส และกลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลี่มาร์ท และท็อปส์ เดลี่) มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 9.45 และ 4.79 ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรก ในตลาด (CR3) เท่ากับ 87.84

 

ดังนั้น ก่อนการรวมธุรกิจ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จึงมีผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดคือ เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งส่งผลให้ภายหลังการรวมธุรกิจ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.05 และกลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด

 

รองลงมาคือ กลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลี่มาร์ทและท็อปส์เดลี่) และมินิบิ๊กซีมีส่วนแบ่งตลาด  ร้อยละ 4.79 และ 3.24 ตามลำดับ โดยส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาด (CR3) เท่ากับ 91.08

 

ดังนั้น ภายหลังการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด เพียงรายเดียวคือ เซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เนื่องจากกลุ่มเซ็นทรัล (แฟมิลี่มาร์ทและท็อปส์ เดลี่) และมินิบิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่าร้อยละ 10

 

กขค.พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ภายหลังการรวมธุรกิจ ตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดเพียงรายเดียว คือ เซเว่น อีเลฟเว่น และ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส

 

เนื่องจากแฟมิลี่มาร์ท และท็อปส์ เดลี่ (บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) และมินิบิ๊กซี (บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาด ต่ำกว่าร้อยละ 10 จึงไม่ใช่ผู้มีอำนาจเหนือตลาดตามความในข้อ 3 วรรคสอง ของประกาศ กขค. เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

 

และเนื่องจากผู้ขออนุญาตไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็กสินค้าอุปโภคบริโภค จึงไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ตามความในข้อ 3 ของ ประกาศกขค. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขออนุญาตและการอนุญาตการรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561

 

ซึ่งกำหนดว่า “การผูกขาด” หมายความว่า  การมีผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวในตลาดใด ตลาดหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจในการกำหนดราคาและปริมาณสินค้า หรือบริการของตนได้อย่างเป็นอิสระ และมียอดเงินขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป 

 

สรุป การวินิจฉัยประเด็นที่หนึ่ง  กขค.พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ ไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ตามข้อ 3 ของประกาศ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขออนุญาตและการอนุญาต การรวมธุรกิจ พ.ศ. 2561 แต่ทำให้ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด ตามข้อ 3 (2) ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด

 

ทั้งนี้ แม้ผู้ขออนุญาต ไม่มีรายได้ในปีที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณารายได้ของกลุ่มบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีสถานะเป็นเสมือนหน่วยธุรกิจเดียวกันกับผู้ขออนุญาตในส่วนที่มาจากตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งต้องนับรวมเป็นรายได้ของผู้ขออนุญาตเกิน 1,000 ล้านบาท ประกอบกับรายได้ของผู้ถูกรวมธุรกิจเกิน 1,000 ล้านบาท

 

ดังนั้น การรวมธุรกิจดังกล่าวต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560

 

ใครยังไม่เข้าใจว่า  มติกขค.ที่ระบุว่า ไม่ผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดอย่างไร โปรดอ่านอีกครั้งหนึ่ง ขอบอกว่า อ่านดีๆอย่างมีสติ อย่าเอาอคติมาพัวพัน...จะเห็นถึง ปัญญา....