คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

31 ธ.ค. 2563 | 01:00 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3640 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 31 ธ.ค.2563 – 2 ม.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ยังกลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันหนักหน่วงถึง มติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ของทางกลุ่มซีพีออลล์ ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท

 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่าย ซี.พี.ของเจ้าสัวธนินท์ เจียวรนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

 

หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าบอกว่า ไม่ผูกขาดแม้มีอำนาจเหนือตลาด

 

ขณะที่ คุณธนินท์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า “เทสโก้ โลตัส เป็นลูกของผม ตอนวิกฤติผมขายไป ฝากคนอื่นไปเลี้ยง ทีนี้คนที่เลี้ยงจะขายลูกผมออกมา ผมต้องซื้อ แต่ซื้อแล้วต้องเป็นประโยชน์...

 เจ้าสัวธนินทร์ บอกแนวการทำธุรกิจว่า “แม็คโคร คือ ค้าส่งที่เน้นการขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วน “เทสโก้ โลตัส” จะเป็นค้าปลีก ขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น เน้นเป็นร้านสะดวกซื้อ” คือ ใกล้บ้าน 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกเขาไม่เอามาบวกกัน”

 

“เซเว่นอีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครขายส่ง ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าบิ๊กซี กับเทสโก้ โลตัส แข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อเขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ผมซื้อเทสโก้ โลตัส มาก็เป็นคู่แข่งกันเหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือคนไทย คนข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่า มันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง ความจริง เทสโก้ โลตัส เป็นของผมมาก่อน ที่ทำตอนนั้น บิ๊กซียังไม่มีเลย แล้ววันนี้ผมซื้อกลับมา ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยทำธุรกิจตัวนี้”

 

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพของธุรกิจและการตัดสินการรวมธุรกิจที่เป็นประวัติศาสตร์ของไทย ผมจึงขอนำคำวินิจฉัยกลางของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กรณีการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล กับบริษัท เทสโก้ โลตัส มานำเสนอเป็นตอนๆจนกว่าจะจบ ..เพื่อบันทึกไว้ให้ภาคธุรกิจได้พิจารณาแนวทางการทำธุรกิจในอนาคต...เชิญทัศนา

 

ด้วย บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้ยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจกับบริษัท เทสโก้  สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ต่อกขค. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากการรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และมีมูลค่าการรวมธุรกิจสูง ซึ่งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ กขค.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ กรณีคำขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทลฯ และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) รวมถึงที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ  เพื่อทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับคำขออนุญาตรวมธุรกิจ คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

กรณีมีประเด็นต้องวินิจฉัย ดังนี้ 

 

1. การรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ เป็นการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิด การผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดที่จะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค.ก่อนที่จะกระทำการรวมธุรกิจ ตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขัน ทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่

 

2. การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ โดยคำนึงถึงความจำเป็นตามควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ การไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และการไม่กระทบต่อประโยชน์สำคัญอันควรมีควรได้ของผู้บริโภคส่วนรวม ตามความในมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

 

คำวินิจฉัย

 

ประเด็นแรกที่จะต้องพิจารณาคือ การรวมธุรกิจระหว่างผู้ขออนุญาตและผู้ถูกรวมธุรกิจ เป็นการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่  โดยจะต้องพิจารณาว่ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการกับผู้ขออนุญาต ซึ่งจะถือว่ามีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน กับผู้ขออนุญาต ตามความในข้อ 3 ของประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์ การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดว่า

 

“ความสัมพันธ์กันทางนโยบาย” หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจตั้งแต่ สองรายขึ้นไป ที่มีแนวทาง นโยบาย หรือวิธีการในการบริหาร การอำนวยการ หรือการจัดการธุรกิจที่อยู่ภายใต้ บุคคลที่มีอำนาจสั่งการของผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกัน

 

“อำนาจสั่งการ” หมายความว่า อำนาจควบคุมอันเนื่องมาจากเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้ (1) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวน สิทธิออกเสียงทั้งหมดของผู้ประกอบธุรกิจนั้น

 

(2) การมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

 

(3) การมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการในผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่ง ตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

 

(4) การมีอำนาจสั่งการตาม (1) หรือ (2) ต่อไปเป็นทอด ๆ ทุกทอด โดยเริ่มจากการมีอำนาจ สั่งการตาม (1) หรือ (2) ในผู้ประกอบธุรกิจในทอดแรก คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

 

กขค.ได้พิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบาย หรืออำนาจสั่งการกับผู้ขออนุญาตตามข้อเท็จจริงในคำขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งผู้ขออนุญาตแจ้งว่า  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้กลุ่มบริษัท ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการกับผู้ขออนุญาตแต่อย่างใด 

 

แต่จากการพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ปรากฏว่าบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นกลุ่ม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 37.76 ของจำนวน หุ้นทั้งหมดของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวมีผลต่อการแต่งตั้งหรือถอดถอน กรรมการในบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ประกอบกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบรายงานประจำปี  2561 – 2562 ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดทำขึ้นเอง ได้ระบุว่า บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด มีอำนาจในการควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ ในบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด

เมื่อพิจารณาตามข้อมูลที่ปรากฏข้างต้นแล้ว กขค.จึงมีความเห็นว่า บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) อยู่ภายใต้อำนาจสั่งการของ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 3 วรรคสอง (2) ของประกาศคณะกรรมการ การแข่งขันทางการค้า เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรือ อำนาจสั่งการ พ.ศ. 2561 คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

 

ดังนั้น บริษัทที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการซึ่งมีสถานะเสมือน เป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันกับผู้ขออนุญาต จึงมีจำนวน 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ซี.พี. รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)

 

เรื่องที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ การกำหนดขอบเขตตลาดสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับ การรวมธุรกิจ ตามประกาศกขค. เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณากำหนด ขอบเขตตลาดและส่วนแบ่งตลาด พ.ศ. 2561 ซึ่งจากรายงานผลการศึกษาของ “โครงการศึกษาธุรกิจ ค้าปลีกค้าส่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการยกร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (กันยายน 2560) ผลการศึกษาการแบ่งประเภท กิจการค้าปลีกค้าส่งตามลักษณะในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจใน โครงการศึกษา วิเคราะห์แนวทางการกำหนดเกณฑ์การรวมธุรกิจที่เหมาะสมเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( 2558) โดยสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรายงานการศึกษาธุรกิจ ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ของศูนย์วิจัยแห่งธนาคารกรุงศรีอยุธยา (สิงหาคม 2562) สรุปได้ว่า การจำแนกประเภท ตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทยสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งแบบดั้งเดิม และตลาดร้านค้าปลีกค้าส่งแบบสมัยใหม่

 

กขค.พิจารณาโครงสร้างตลาดและขอบเขตตลาดของธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตรวมธุรกิจ โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาการทดแทนกันด้านอุปสงค์ ตามข้อ 10 (4)  (6) และ (7) และใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาการทดแทนกันด้านอุปทาน ตามข้อ 13 ของประกาศ กขค.เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการพิจารณากำหนดขอบเขตตลาดและส่วนแบ่งตลาด พ.ศ. 2561 แล้ว เห็นว่า ตลาดร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งไม่สามารถทดแทนกันได้ ทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานอย่างมีนัยสำคัญ คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้ 3 แสนล. ทำไมกขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (1)

 

ดังนั้น ขอบเขตตลาดที่จะนำมาพิจารณากรณีขออนุญาตรวมธุรกิจนี้ จะพิจารณาเฉพาะตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ซึ่งตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจนี้ สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก

 

ซึ่งตลาดที่มีความทับซ้อนกันของผู้ขออนุญาต และผู้ถูกรวมธุรกิจ คือ ตลาดร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ได้แก่ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส

 

ไว้ตอนตอนไปมาดูข้อพิจารณาว่าด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของตลาดค้าปลีกว่าเป็นเช่นไร นะครับ