สรุปข่าวเด่น ประเด็นดัง อุตฯยานยนต์ไทยปี 2563

30 ธ.ค. 2563 | 07:10 น.

ฐานยานยนต์ สรุป 3 ข่าวเด่น ประเด็นดัง ในอุตสาหกรรมยายนต์ไทยในรอบปี 2563

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ประคองตัวผ่านปี 2563 ได้อย่างกระท่อนกระแท่น แม้หลายค่ายรถยนต์ยอมรับว่าสถานการณ์ตั้งแต่ครึ่งปีหลังจะดีกว่าที่คาด แต่ต้องยอมรับว่าในภาพรวม ยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเหมือนธุรกิจอื่นๆ

สำหรับยอดผลิตรถยนต์ปี 2563 ระดับ 1.4-1.5 ล้านคัน ลดลงจากปี 2562 ที่ทำได้ประมาณ 2 ล้านคัน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นการขายในประเทศ โดยค่ายรถยนต์เริ่มปรับลดกำลังการผลิตตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ขณะเดียวกันยังต้องหาความสมดุลระหว่างการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก ถือเป็นความท้าทาย โดยเฉพาะรถยนต์ที่เพิ่งเปิดตัวใหม่

ตลอดปี 2563 ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ทั้งที่เกี่ยวเนื่องจากโควิด-19 โดยตรง โดยอ้อม และการตัดสินใจกำหนดนโยบายจากปัจจัยอื่นๆ

- จีเอ็มขายโรงงานจ.ระยอง เลิกทำตลาดรถในไทย

เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ปิดฉาก 20 ปีในการลงทุนทำธุรกิจในไทยตั้งแต่ปี 2543 โดยประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ว่า บริษัทได้ตกลงขายศูนย์การผลิตที่จังหวัดระยองให้แก่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ทุนใหญ่จากจีน พร้อมยุติการขายรถยนต์ในไทยภายในปี 2563

จริงๆแล้ว ก่อนการถอยทัพของจีเอ็ม ในประเทศไทย เริ่มเห็นสัญญาณจากการปรับโครงสร้างองค์กร และการทยอยขายโรงงานทั้งในเวียดนาม และอินเดีย ขณะที่ช่วงปลายปี 2562 จีเอ็มเริ่มโละคนงานในสายการผลิตชุดใหญ่ ทว่าช่วงนั้นผู้บริหารยังยืนยันลุยตลาดไทยต่อไป ด้วยรถ 3 โมเดลคือ ปิกอัพ โคโลราโด,พีพีวี เทรลเบลเซอร์ และ แคปติวา ที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย

สรุปข่าวเด่น ประเด็นดัง อุตฯยานยนต์ไทยปี 2563

อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศแผนหนีกลับบ้านของจีเอ็ม ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ค่ายรถอเมริกันรีบเคลียร์สต๊อกด้วยการลดราคา เชฟโรเลต แคปติวา ลง 50% ทันที ส่วนปิกอัพและพีพีวีลด 20-30% แล้วแต่รุ่น

อย่าง เชฟโรเลต แคปติวา รุ่นแอลเอส ราคา 999,000 บาท ลดเหลือ 499,000 บาท, เชฟโรเลต โคโลราโด HighCoutry 2WD ราคา 998,000 บาท เหลือ 775,000 บาท และ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ 2WD 2.5 LT ราคา 1,144,000 บาท เหลือ 895,000 บาท

เชฟโรเลต แคปติวา ที่เหลือสต๊อกไม่ถึง 3,000 คัน ถูกจองเกลี้ยงภายใน 1-2 วัน หลังการประกาศลดราคา ส่วน เชฟโรเลต โคโลราโด กับ เชฟโรเลต เทรลเบลเซอร์ ทยอยส่งมอบมาเรื่อยๆ และเคลียร์รถล็อตสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว

สำหรับธุรกิจของจีเอ็มในไทย ยังเหลือ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย จำกัด เอาไว้ดูแลบริการหลังการขาย และการทำศูนย์ซ่อมสำหรับรถทุกยี่ห้อ ส่วน เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ที่ซื้อโรงงานไป จะเริ่มผลิตรถยนต์ต้นปี 2564 

- นิสสันผ่าตัดใหญ่ ดันไทยฐานธุรกิจสำคัญ แต่เลิกขายรถ 3 รุ่น

ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2563 นิสสัน มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น โดยประธานมาโคโตะอูชิดะ ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ หลังบริษัทขาดทุนต่อเนื่องหลายปี ซึ่งการผ่าตัดครั้งนี้ทำได้ฉลุยหลัง “คาร์ลอส กอห์น” ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ นิสสันเตรียมปรับโครงสร้างองค์กรไว้ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไวรัสตัวนี้ทำให้แผนงานทุกอย่างชัดเจน และสมเหตุสมผลมากขึ้น ทั้งแผนลดต้นทุนคงที่ การปรับลดโมเดลในการทำตลาดทั่วโลกแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการปิดโรงงานที่สเปน และอินโดนีเซีย

สรุปข่าวเด่น ประเด็นดัง อุตฯยานยนต์ไทยปี 2563

สำหรับแผนธุรกิจระยะ 4 ปี นิสสันหวังกลับมาเป็นบริษัทที่มีกำไร ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้

• ปรับอัตราการผลิตของนิสสันลง 20% ให้เหลือเพียง 5.4 ล้านคันต่อปี

• เพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตให้ได้มากกว่า80% เพื่อเพิ่มผลกำไร

• ลดจำนวนรุ่นรถยนต์ทั่วโลกลง 20% (ให้เหลือเพียง 55 รุ่น จากเดิม 69 รุ่น)

• ลดต้นทุนแบบคงที่ลงประมาณ 9 หมื่นล้านบาท

• ควบรวมการผลิตของรถยนต์รุ่นสำคัญต่างๆ ในอเมริกาเหนือ

• ร่วมมือบริษัทในกลุ่มพันธมิตรในการใช้ทรัพยากร เช่น การผลิต รุ่นรถยนต์ และเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกัน

สำหรับประเทศไทย ที่กลายเป็นฐานการผลิตของนิสสันแห่งเดียวในอาเซียน และที่ผ่านมามีแผนลงทุน 1 หมื่นล้านบาทภายใต้แพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (โมเดลแรกคือ คิกส์ อี-พาวเวอร์) ล่าสุดยังประกาศจ้างพนักงานในสายการผลิต ที่โรงงานนิสสัน ถนนบางนา ตราด กม.21-22 จ.สมุทรปราการ อีก 2,000 อัตรา รองรับการผลิตรถยนต์เพื่อทำตลาดในประเทศและส่งออก

นายราเมช นาราสิมัน ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดส่งออกยังไปได้ดีโดยเฉพาะ นิสสัน คิกส์ อี-พาวเวอร์ และ นิสสัน นาวารา ส่วนยอดขายในประเทศเติบโตจาก นิสสัน อัลเมร่า ใหม่

“ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนิสสัน โดยมีหน้าที่ผลิตรถยนต์ส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ยังลงทุนมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทในการผลิตเทคโนโลยี อี-พาวเวอร์ ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศแรกในโลก ต่อจากประเทศญี่ปุ่น เหล่านี้ถือเป็นการตอกยํ้าคุณภาพของพนักงานนิสสัน รวมถึงรถยนต์ของเรา ซึ่งการลงทุนและการจ้างงานเพิ่มขึ้นของนิสสันจะส่งผลดีต่อห่วงโซ่อุปทานการผลิตรถยนต์และเศรษฐกิจไทย” ราเมช กล่าว

ในส่วนโปรดักต์ที่ขายในไทย มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ คือ ประกาศเลิกทำตลาดรถยนต์ 3 รุ่น อย่าง ซิลฟี เอ็กซ์เทรล เทียนา (ต่างประเทศมีโฉมใหม่แล้ว) ขณะที่ นิสสัน ลีฟ รถพลังงานไฟฟ้า 100% ยังทำยอดขายไม่ดีนัก หรือตั้งแต่ส่งมอบต้นปี 2562 ถึงสิ้นปี 2563 ตัวเลขยังไม่ถึง 200 คัน ทั้งนี้ นิสสัน ยังมีแผนนำเข้า อีวี รุ่นใหม่ “อาริยะ” มาทำตลาดในไทยภายในปี 2565 

- รถเก่าแลกรถใหม่ ...ป่วนตลาด ลุงตู่ไม่ปลื้ม

ถูกตีตกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 สำหรับ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” เนื่องจากหลักเกณฑ์ เงื่อนไข รายละเอียดยังไม่สะเด็ดนํ้า และยากในเชิงปฎิบัติ ดังนั้นยิ่งรัฐบาลตัดสินใจเคาะโครงการช้า ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ช่วงปลายปี ที่เป็นฤดูกาลขาย 

อย่างไรก็ตาม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ยังพยายามผลักดัน โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ อย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากนโยบายนี้ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง และช่วงโควิด-19 ยังมีแนวทางของ ศบค.กับการจัดสรรงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

ทว่ารถยนต์เป็นสินค้าราคาสูง และตามแนวคิดในอุดมคติคือ ให้เจ้าของนำรถยนต์เก่าเกิน 15 ปี ไปทำลายลายทิ้ง และให้รัฐบาสนับสนุนเงินจำนวนหนึ่ง(ตั้งธงไว้ 1 แสนบาท) เพื่อนำไปซื้อรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในความเป็นจริงนั้นทำได้ยาก 

สรุปข่าวเด่น ประเด็นดัง อุตฯยานยนต์ไทยปี 2563

ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยํ้าว่า หาก โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องดี แต่ต้องใช้ยาแรงคือ สนับสนุนคันละหนึ่งแสนบาท เพราะต่ำกว่านั้นจะไม่จูงใจ เนื่องจากบริษัทรถยนต์มีโปรโมชั่นให้ลูกค้าอยู่แล้ว ส่วนรถคันใหม่ไม่ควรจำกัดแค่รถยนต์ไฟฟ้า เพราะอีโคคาร์ ก็ปล่อยมลพิษต่ำเหมือนกัน 

ด้านมือขวานายกรัฐมนตรี “สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์”รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ความพร้อมของเรายังไม่ชัดเจน และยังไม่ได้ข้อสรุป

“ต้องชัดเจน ถ้าไม่ชัดเจนต้องบอกยกเลิกไปก่อน ผมคิดว่าวันนี้เรายังไม่พร้อม ไม่ต้องดำเนินการต่อในเรื่องนี้ ซึ่งไม่เร็วๆ นี้หรอก ต้องดูรายละเอียดผลกระทบทุกด้าน” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

...สุดท้าย โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ จะมาเมื่อไหร่ แล้วจะมาในรูปแบบไหนยังไม่ได้ข้อสรุปโดยค่ายรถยนต์ที่ยกมือสนับสนุนต่างลดความคาดหวังในนโยบายนี้และคิดเพียงว่า“ได้ก็ดี ไม่มีก็ได้” แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงต้องเท่าเทียมมีโอกาสในการขายเหมือนกันทุกค่าย

 

หน้า 15 หนังสืออพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564