ซีอีโอแห่งปี 63 ฝ่าวิกฤติโควิด

31 ธ.ค. 2563 | 23:00 น.

 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างผลกระทบไปทั่วกับทุกภาคส่วน รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการต่างๆ มาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งภาคสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนได้รับการยอมรับไปทั่วโลก และส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ทำการสำรวจบุคคล ที่เห็นว่าควรจะได้รับยกย่องให้เป็นซีอีโอแห่งปี 2563 เนื่องจากมีผลงานสำคัญ และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในการฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้แก่ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

 

ซีอีโอแห่งปี 63 ฝ่าวิกฤติโควิด

 

“อรรถพล” กดปุ่มเดินหน้าลงทุน

ทั้งนี้ การคัดเลือกให้นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นซีอีโอ แห่งปี 2563 นั้น หลังจากได้เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ ปตท.ได้ประกาศนโยบาย Restart Thailand ภายใต้การดำเนินงานธุรกิจที่หลากหลายของ ปตท. ให้พร้อมเดินหน้าอีกครั้ง จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยได้วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว จัดตั้งศูนย์ PTT Group Vital Center เพื่อรักษาเสถียรภาพมั่นคงทางพลังงาน ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีของไทย นำคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจกลับเข้าสู่การดำเนินงานในสภาวะปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด

ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมานายอรรถพล ได้เร่งผลักดันการลงทุนในกลุ่มธุรกิจของปตท.ราว 5.3 หมื่นล้านบาท เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน และต่อเนื่องในปี 2564 อีกราว 2.44 แสนล้านบาท เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ขณะที่แผนการลงทุนในระยะเวลา 5 ปี (2564-2568) ในกลุ่มปตท.จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 8.15 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการพลังงานสะอาด หรือ “Clean Fuel Project” (CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท, การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ 7 (Gas Separation Plant 7) เพื่อทดแทนโรงที่ 1 ซึ่งกำลังจะหมดอายุ มูลค่าลงทุนประมาณ 1.78 หมื่นล้านบาท, โครงการ LNG Receiving Terminal Nongfab มูลค่าลงทุนประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท และโครงการมาบตาพุดเฟส 3

นอกจากนี้ ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นายอรรถพล ยังผลักดันให้เกิดธุรกิจ ที่จะมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจปัจจุบันและโอกาสธุรกิจใหม่ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาวด้วยการขยายธุรกิจไปสู่การประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร เพื่อไปสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดก๊าซธรรมชาติเหลวของโลก

รวมถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานแพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการพลังงาน และ สถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ร่วมกับพันธมิตร ได้ดำเนินการในเชิงพาณิชย์ แล้ว 2 แห่ง คือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค และ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และมีแผนขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ ที่มีศักยภาพต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศ

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังจะดำเนินการต่อยอด เร่งพัฒนา และขยายเข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก หรือที่เรียกว่าธุรกิจใหม่
เพื่อเป็นการเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่มุ่งเน้นเรื่องพลังงานสะอาด หรือหลังงานทดแทน โดยภายในปี 2573 ปตท. ตั้งเป้าที่จะมีการลงทุนในพลังงานทดแทนประมาณ 8 กิกกะวัตต์ หรือ 8,000 เมกกะวัตต์ และมีการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ ต้นแบบแห่งแรกของไทย การจัดตั้งบริษัท บริษัท สวอพ แอนด์โก จำกัด รองรับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี

รวมถึงการขยายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ อาทิ ยา อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ และเครื่องมือทางการแพทย์ (Life Science) ธุรกิจที่เกี่ยวกับความคล่องตัว และไลฟ์สไตล์ Mobility & Lifestyle และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การขนส่ง และการพัฒนาธุรกิจทางด้านปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์

ที่สำคัญการดำเนินงานของนายอรรถพล ยังมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หรือประคับประคองเศรษฐกิจ และ
ช่วยลดปัญหาสังคมของผู้ที่ไม่มีงานทำ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะให้เกิดการจ้างงาน โดยเปิดรับพนักงานใหม่ เข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่มปตท. ประมาณ 1,000 อัตรา และจ้างพนักงานเพื่อทำงานในโครงการที่หยุดชะงักลงไปในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ทุกโครงการ รวมถึงเดินหน้าโครงการใหม่ ทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 22,000 อัตรา

อีกทั้ง การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 2,600 อัตรา เพื่อทำโครงการที่ ปตท. ยังไม่ได้ดำเนินการ รวมถึงการช่วยเก็บข้อมูล จากภาพรวมทั้งหมดจะทำให้ ปตท. มีการจ้างงานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 25,800 อัตรา

นอกจากนี้ นายอรรถพล ยังตอบรับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ปตท. ใช้สิทธิ์ลาพักร้อนไป
ท่องเที่ยววันธรรมดา ด้วยการช่วยออกค่าใช้จ่ายให้อีกครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 5,000 บาท นอกเหนือจากที่รัฐบาลช่วยออกให้แล้วตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และการดำเนินการเรื่องการสัมมนาภายในประเทศ

 

 

ซีอีโอแห่งปี 63 ฝ่าวิกฤติโควิด

“อเล็กซ์ อึ้ง” มือปั้นเคอรี่

ขณะที่นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ที่คัดเลือกเป็นหนึ่งใน CEO ปี 2563 เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในประเทศไทยในการให้บริการด้านการจัดส่งพัสดุด่วนทั่วไทย บริการรับส่งพัสดุและสินค้าถึงที่ บริการเก็บเงินปลายทาง เช็คสถานะสินค้าและพัสดุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ที่มีผู้ใช้บริการจัดส่งพัสดุเฉลี่ยกว่า 1.2 ล้านชิ้นต่อวันทำการ

นายอเล็กซ์ อึ้งนอกจากสร้างแบรนด์ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส” จนกลายเป็นผู้นำตลาดผู้ให้บริการส่งพัสดุฉับไว ขวัญใจนักช้อป มีเครือข่ายที่ครอบคลุม
ด้วยจุดให้บริการกว่า 15,000 จุดและศูนย์กระจายพัสดุกว่า 1,200แห่งทั่วประเทศ และยังสร้างให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรสมีกำไรระดับพันล้านบาทท่ามกลางวิกฤตโควิด

ล่าสุดเป็นผู้ผลักดันให้บริษัทจัดส่งพัสดุด่วน เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นรายแรก ในชื่อหุ้น KEX และทันทีที่เปิดซื้อขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ราคาเปิดซื้อขายอยู่ที่ 65.00 บาท เพิ่มขึ้น 37.00 บาท หรือ 132.14% จากราคาไอพีโอที่ 28.00 บาท จากนั้นปรับขึ้นสูงสุดที่ 73.00 บาท เพิ่มขึ้น 45.00 บาท หรือ 160.71% และปิดที่ 51.25 บาท เพิ่มขึ้น 23.25 บาท หรือ 83.04% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 25.271.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าซื้อขายสูงสุดของวัน ส่วนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) อยู่ที่ 89,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40,455 ล้านบาท จากมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโออยู่ที่ 48,720 ล้านบาท

“อเล็กซ์ อึ้ง” ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่า 3 ปัจจัยความสำเร็จของเคอร์รี่ เอ็กซ์เพรส ประการแรกคืออย่าได้แม้แต่จะคิดว่าอะไรคือเหตุผล
ของความสำเร็จ เพราะว่าคุณยังไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรขนาดนั้น ขอให้นอบน้อมถ่อมตัวเข้าไว้ ประการที่สองคือ ขอให้ซื่อสัตย์ โดยเฉพาะการซื่อสัตย์ต่อตัวเอง เดินตามเส้นทางข้างหน้าที่มันถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุและผลมากที่สุด ขอให้ทำตามหัวใจและทำตามหลักของเหตุและผล และประการที่สาม สำคัญที่สุด เอาใจเขามาใส่ใจเรา พยายามคิดแทนใจของพวกเขา ว่าถ้าเราเป็นเขา เราจะคิดอย่างไร คิดให้เหมือนว่าพวกเขาเป็นเพื่อน เป็นครอบครัว เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เป็นศัตรู ขอให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

สำหรับกลยุทธ์การบริหารจัดการ ที่ทำให้เคอรี่ เอ็กซ์เพรส กลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในบริการจัดส่งพัสดุ คือ เรามีนโยบาย “เจ้านายโง่” (Stupid Boss) องค์กรเราไม่นิยมผู้บริหารที่ชอบให้ลูกน้องเอาเวลาส่วนใหญ่มาคอยเอาอกเอาใจเจ้านาย แทนที่จะเอาเวลาไปทำให้บริษัทพัฒนาก้าวหน้า

“เจ้านายโง่ คือ เจ้านายที่ไม่ได้ออกคำสั่งให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้มากจนเกินไป ไม่ต้องให้รายละเอียดอะไรมากขนาดนั้น แต่เพียงแค่ตั้งเป้าหมายและกำหนดทิศทาง และแค่จัดสรรเครื่องมือหรือทรัพยากรที่ต้องใช้ให้ลูกทีมนำไปใช้ในการมุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ และลูกน้องของ “เจ้านายโง่” ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของพวกเขาเอง โดยใช้ข้ออ้างว่า “ก็ทำไปตามที่เจ้านายสั่ง”

ส่วนแผนการขยายธุรกิจของเคอรี่ เอ็กซ์เพรสนั้น จะยังคงมุ่งเน้นให้ความสำคัญมากที่สุดกับสิ่งที่เป็นธุรกิจหลักคือบริการส่งพัสดุ และการนำหุ้นเข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรก (IPO) เราต้องลงทุนให้มากขึ้นเพื่อทำให้บริการมีคุณภาพดีขึ้นแต่ค่าบริการถูกลง โดยมีเป้าหมายขยายการจัดส่งพัสดุเป็น 3 ล้านชิ้นต่อวัน ขณะเดียวกันก็จะขยายเพิ่มขอบข่ายการให้บริการและลงทุนมากขึ้นในด้านเทคโนโลยี เราจะเป็นองค์กรธุรกิจที่มีบริการที่หลากหลายมากขึ้น

“สิ่งเดียวที่จะเป็น “อาวุธ” ให้เคอร์รี่ เอ็กซ์เพรสใช้เพื่อเอาชนะทุกความท้าทายนั้น ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คือ “คน” หรือบุคลากรของเรา เราจะยังคงความเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับหนึ่ง เราจะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ในระดับดีเยี่ยม ให้กับทีมงานของเรา ลูกค้าของเรา ผู้ถือหุ้น
ของเรา และประชาชนชาวไทยทุกคน”

 

 

ซีอีโอแห่งปี 63 ฝ่าวิกฤติโควิด

นายแพทย์ผู้สืบสานพระราชปณิธาน

ส่วนศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เป็นที่ประจักษ์ถึงความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศมาโดยตลอด จนส่งผลให้ได้รับการยกย่องจาก สมาคมบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย รับรางวัลนักบริหารโรงพยาบาลดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 ในฐานะผู้บริหารโรงพยาบาลของแผ่นดิน ที่มุ่งให้การดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาส

ความทุ่มเทของนายแพทย์ผู้นี้เป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีก่อน หมอประสิทธิ์ ตัดสินใจสละสิทธิ์การชิงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากยังมีหลายภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะการสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษาที่ต้องดำเนินการให้ลุล่วง เพื่อเป็นอาคารที่ช่วยเหลือผู้ป่วยคนไทยที่ด้อยโอกาส โดยอาคารแห่งนี้เป็นพระราชปณิธานสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการช่วยเหลือประชาชนที่เป็นผู้ป่วยด้อยโอกาสและขณะนี้อาคารได้สำเร็จลุล่วงแล้ว หากแต่ภารกิจของนายแพทย์ผู้นี้ยังคงเดินหน้าต่อ

นอกจากนี้ ยังเป็นเบอร์ต้นๆ ของการกำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้กับโควิด-19 ของไทย ด้วยการวาง 2 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ การพยายามลดปริมาณผู้ป่วย โดยรณรงค์ให้คนไทยป้องกันตัวเอง พร้อมย้ำว่าวัคซีนที่ดีที่สุดของคนไทย คือ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้า
กากผ้า และล้างมือบ่อยๆ อีกหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ปลายนํ้า ดูแลผู้ป่วย รักษาให้หาย ลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มอัตราการกลับบ้าน

รวมทั้งการดูแลและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว หมอประสิทธิ ไม่ได้ปฏิบัติเพียงแค่สถานการณ์ตรงหน้า แต่ยังคิดต่อยอด ด้วยการประมวลเหตุการณ์ และข้อมูลแวดล้อม เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อหาทางออก และสร้างโอกาสที่ดีที่สุดให้ประเทศไทย หนึ่งในเรื่องสำคัญที่พยายามขับเคลื่อน ในฐานะ หนึ่งในคณะกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ผู้ผลิตยาชีววัตถุผ่านเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งเดียวของคนไทย ที่เกิดจากพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งขณะนี้มีภารกิจเร่งด่วน คือ การผลิตวัคซีนไวรัสโควิด-19

การผลิตวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอาจคิดว่า ในแง่เศรษฐกิจแล้วถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มทุน การนำเข้าวัคซีนจะเหมาะสมกว่า เพราะปริมาณผู้ป่วยในประเทศไทยไม่ได้เยอะมาก หากแต่วันนี้หมอประสิทธิ์ มองว่า การผลิตวัคซีนไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ หากไทยสามารถผลิตวัคซีนในบริบทที่เป็นศูนย์กลางการใช้ในภูมิภาคอาเซียนโดยมีการบริหารจัดการที่ดี และถ้าทำได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่ไทยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ดูแลผู้ป่วยได้อีกมหาศาล แต่ยังมีโอกาสยกระดับตัวเองจากประเทศที่กำลังพัฒนา สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หมอประสิทธิ์ได้ประสานงานกับพันธมิตรที่ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อพัฒนาและนำเคสผู้ป่วยมาใช้ในการพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนดังกล่าว เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและเร็วที่สุด

อีกทั้ง การพัฒนาองค์กร ในฐานะโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ของแผ่นดิน หมอประสิทธิ์ใช้หลักการ Agile Organization ขับเคลื่อนการทำงาน โดยมีการเชื่อมโยงประสานไปใน “แนวระนาบ” ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อการบรรลุเป้าหมายซึ่งไม่ได้จำกัดแต่เพียงการทำตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตาม “JD” หรือ Job Description แต่จะให้แต่ละคนได้ทำตามความถนัด หรือความเชี่ยวชาญ เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของตัวเองว่าทำอะไรให้องค์กรได้บ้าง โดยจะมีการให้ผลตอบแทนตามคุณภาพของผลงานเป็นแรงเสริมจากองค์กร สิ่งที่ได้นอกจากปริมาณและคุณภาพของผลผลิต หรือการสร้างสรรค์ผลงานที่องค์กรจะได้เพิ่มขึ้น คือความภาคภูมิใจของคนในองค์กร

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สนับสนุนให้บุคลากรผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ จากงานประจำสู่งานวิจัย หรือ “R2R” (Routine to Research) โดยมองถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นหลัก เนื่องจากเป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการผลิตแพทย์ วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้สู่สังคมและให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวไทยมาตลอด 131 ปีที่ผ่านมา โดยการนำหลักการ “Agile Organization” มาปรับใช้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,640 หน้า 8 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564