ปีฉลู ‘รัฐบาลลุงตู่’ อยู่ยาว

03 ม.ค. 2564 | 01:00 น.

ปีฉลู ‘รัฐบาลลุงตู่’ อยู่ยาว : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,641 หน้า 12 วันที่ 3 - 6 มกราคม 2564

 

“ปีชวด” ผ่านไป “ปีฉลู” เข้ามาแทนที่ ในสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ประเมินได้ว่า “รัฐบาล” ภายใต้การนำของ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังจะสามารถยื้อต่อไปได้อีก

 

ในปี 2563 ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะต้องเผชิญกับปัญหา “ม็อบเยาวชนปลด แอก-ม็อบคณะราษฎร” นัดชุมนุมเรียกร้อง ใน 5 ข้อ คือ

 

1. รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” ที่ออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย

 

2. รัฐบาลต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ที่มาจากเจตจำนงของประชาชน เพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างแท้จริง

 

3. รัฐบาลต้อง “ยุบสภา” เพื่อ ให้ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกผู้แทนของตนได้อีกครั้ง 

 

4. การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

 

และ 5. ให้นายกฯ ลาออก

 

แม้ม็อบจะย้ายที่ชุมนุมไปยังสถานที่สำคัญ หรือชุมนุมบริเวณถนนสำคัญๆ กลางกรุงเทพมหานคร และยกระดับการชุมนุมอยู่เป็นระยะๆ เกิดการปะทะกันบ้างประปราย แต่ก็ไม่สามารถกดดันให้ “ลุงตู่” ลาออก หรือยุบสภาได้

 

แถมยิ่งมาระยะหลังๆ ผู้เข้าร่วมชุมนุมกลับลดน้อยถอยลงอีกต่างหาก ด้วยเหตุเพราะมีการก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น การชุมนุมไม่มีผู้นำ ทำให้ขบวนการจัดชุมนุมไม่มีเอกภาพ ไม่มีประเด็นร่วมที่จะทำให้สังคมสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุม และเนื้อหาสาระการเคลื่อนไหวไม่สามารถโน้มน้าวใจคนในสังคมได้ แถมมีแต่ Hate Speech

 

ปีฉลู ‘รัฐบาลลุงตู่’ อยู่ยาว

 

ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่า ในปี 2564 หาก “ม็อบ” ยังจะกลับมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลอีก รัฐบาลก็น่าจะ “เอาอยู่” เรียกได้ว่า การเมืองนอกสภาไม่มีพลังพอที่จะโค่นล้มรัฐบาลลง

 

หันไปดู “การเมืองในสภา” สิ่งที่จะทำให้ “รัฐบาลลุงตู่” อยู่ไม่ได้ก็คือ พ่ายแพ้เสียงโหวตในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ซักฟอก) ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจองกฐินไว้แล้วว่า เปิดสภามาหลังปีใหม่ก็จะหารือเพื่อยื่นซักฟอกรัฐบาล โดยพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ 

 

คาดว่าการอภิปรายน่าจะเกิดขึ้นได้ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนปิดสมัยประชุมสภา

 

 

 

แต่ดูๆ แล้ว “ฝ่ายค้าน” ก็ไม่น่าจะทำอะไรรัฐบาลได้ เพระฝ่ายค้านเองก็อยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะเกิดความแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย จากกรณีกลุ่มคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลาออกจากพรรค 

 

ขณะที่พรรคก้าวไกล ที่แปลงกายมาจากอนาคตใหม่หลังถูกยุบพรรค และดัน “ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค ความเข้มข้นการตรวจสอบรัฐบาลในสภา ก็ดูจะไม่มีพลังเท่าที่ควร แถมจากที่เคยมีส.ส.อยู่ 65 ก็เหลือเพียง 53 คนเท่านั้น

 

ที่สำคัญจำนวนเสียงของ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จากหลังเลือกตั้งใหม่ๆ มาถึงปัจจุบันนี้ก็ลดจำนวนลงไปมาก เพราะถูกฝ่ายรัฐบาล “ดูด” ส.ส.ฝ่ายค้านไปอยู่ฟากรัฐบาล จนคะแนนเสียงในสภาของฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน “ห่างกัน” 

 

จากเดิมหลังเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงในสภา 263 เสียง แต่ปัจจุบันมี 276 เสียง หากกัน 13 เสียง โหวตกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ฝ่ายค้านก็ย่อมพ่ายแพ้ให้กับรัฐบาล

 

 

 

ครั้นจะคอยอาศัยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล ที่คิดว่าจะมี “แหกมติพรรค” มายกมือสนับสนุนฝ่ายค้านในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงหวังได้ยาก 

 

เพราะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ก็คงไม่มีพรรคไหน อยากให้เกิดการยุบสภาแล้วลงสู่สนามเลือกตั้งใหม่ 

 

 

ปีฉลู ‘รัฐบาลลุงตู่’ อยู่ยาว

 

เพราะไม่พร้อมเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ที่นอกจากจะชอกชํ้าจากการเลือกตั้งในปี 2562 ที่จำนวนส.ส.ลดลงไป มากแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีคลื่นความ ขัดแย้งเกิดขึ้นภายในพรรคอยู่

 

ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ยกมา จึงทำให้ประเมินได้ว่า ใน “ปีฉลู” นี้ “รัฐบาลลู่งตู่” ยังจะอยู่บริหารประเทศได้อีกต่อไป 

 

โดยไม่มี “ปัจจัยทางการเมือง” มาทำอะไรได้...