วิบากกรรม “หุ้นไทย” ปัจจัยลบรอบด้าน

31 ธ.ค. 2563 | 22:00 น.

เปิดสถิติหุ้นไทยปี 2563 ฝ่าวิกฤติรอบด้าน ใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ 3 ครั้ง พร้อมปรับเกณฑ์ดูแลความร้อนแรงของราคาหุ้นรับมือโควิด-19 เผย DELTA ซิ่งสุด มาร์เก็ตแคปแซงหน้าขึ้นอันดับ 2 ส่วนเคอรี่แชมป์เทรดวันแรกเหนือจองสูงสุด

ปี2563 ถือเป็นปีที่มีปัจจัยเข้ามากระทบกับการลงทุนในตลาดหุ้นอย่างรุนแรงและหนักหน่วง ทั้งสงครามการค้าสหรัฐกับจีน สงครามราคาน้ำมันรัสเซียกับซาอุดีอาระเบีย มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ การเมืองในประเทศไทย และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้การซื้อขายในตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนตามความรุนแรงของสถานการณ์ในขณะนั้น แต่เป็นเพียงระยะเวลาช่วงสั้น เพราะเมื่อมีความชัดเจนและคลี่คลาย ตลาดหุ้นก็มีการปรับตัวขึ้นมาในระดับปกติได้อย่างรวดเร็ว

จากข้อมูลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)พบว่า ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม-25 ธันวาคม 2563 ปิดที่ 1,486.31 จุด ลดลง 93.53 จุด หรือ -5.92% จากสิ้นปี 2562 ปิดที่ 1,579.84 จุด โดยในเดือนมีนาคมปรับลดลงมากที่สุด 214.66 จุด หรือ -16.01% ส่วนเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนที่มีการปรับขึ้นสูงสุด 213.36 จุด หรือ 17.86% หลังจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายและชัดเจนมากขึ้น รวมถึงกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามาซื้อสุทธิในเดือนพฤศจิกายนที่ 32,643.75 ล้านบาท ในรอบ 1 ปี 2 เดือน จากการซื้อสุทธิครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ในปีนี้ยังขายสุทธิสูงถึง 264,757.39 ล้านบาท มากกว่าปี 2562 ที่ขายสุทธิ 45,244.85 ล้านบาท 

สำหรับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างความกังวลต่อตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งในเดือนมีนาคม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ตลท.ได้ประกาศใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน และเป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่มีการก่อตั้งตลท. จากนั้นในช่วงการซื้อขายภาคเช้าวันที่ 13 มีนาคม 2563 ทันทีที่เปิดการซื้อขายดัชนีลดลงทันที 111.52 จุด หรือ 10% เป็นการประกาศเซอร์กิตเบรกเกอร์ ครั้งที่ 2 ของสัปดาห์ และเป็นครั้งแรกที่ประกาศใช้ทันทีตั้งแต่เปิดการซื้อขาย

 วิบากกรรม “หุ้นไทย” ปัจจัยลบรอบด้าน

หลังจากนั้น ตลท.ได้ประกาศปรับเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563 หากดัชนีร่วงแรง 8% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที จากเดิมที่ดัชนีลดลง 10% หยุดพักการซื้อขาย 30 นาที, ระดับที่ 2 หากเปิดซื้อขายแล้วดัชนีร่วงจนอยู่ที่ 15% จะหยุดพักการซื้อขายทันทีอีก 30 นาที และระดับที่ 3 ซึ่งเป็นระดับสุดท้าย หากดัชนีลดลง 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที ทั้งนี้ หลังจากการทำงานระดับที่ 3 แล้ว จะเปิดให้ซื้อขายต่อไปจนถึงเวลาปิดทำการปกติในรอบการซื้อขายนั้น แต่ในวันที่ 23 มีนาคม 2563 ยังต้องใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ ถือเป็นครั้งแรกในการประกาศใช้เกณฑ์ใหม่

นอกจากนั้น ยังมีการปรับเกณฑ์ชั่วคราว โดยปรับเกณฑ์ซิลลิ่งและฟลอร์หุ้นเหลือ 15% จากเดิม บวก/ลบ 30%, Foreign share จากเดิมบวก/ลบ 60% เหลือบวก/ลบ 30% และ TFEX จากเดิมบวก/ลบ30% เหลือบวก/ลบ 15% ด้านเกณฑ์ชอร์ตเซลล์ จากปกติ Zero Plus Tick ใช้ราคาที่สูงกว่าหรือเท่ากับราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย เป็นเกณฑ์ชั่วคราว Uptick ใช้ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวได้กลับมาใช้เป็นปกติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ขณะที่เซอร์กิตเบรกเกอร์ ให้ใช้เกณฑ์ใหม่เป็นการถาวร ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 263 เป็นต้นไป

ด้านความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นที่มีความร้อนแรงของปี 2563 คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ปิดที่ 684.00 บาท เพิ่มขึ้น 148.00 บาท หรือ 27.61% โดยตั้งแต่ต้นปีปรับเพิ่มขึ้น 630.50 บาท หรือ 1,178.50% จากวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปิดที่ 53.50 บาท และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 853,209.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 786,474.10 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 66,734.92 ล้านบาท ปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 3 จากอันดับที่ 54 เมื่อสิ้นปีก่อน รองจากอันดับ 2 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) อยู่ที่ 892,896.25 ล้านบาท และอันดับ 1 คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) อยู่ที่ 1,199,645.84 ล้านบาท

ขณะที่การระดมทุนในตลท. มีหุ้นไอพีโอใหม่ทั้ง 26 บริษัท แบ่งเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) จำนวน 14 บริษัท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) จำนวน 12 บริษัท มูลค่าระดมทุนรวม 136,043,880,000 บาท มีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ รวมอยู่ที่ 554,473,610,000 บาท โดยบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอสูงที่สุด คือ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) อยู่ที่ 253,302,000,000 บาท และราคาหุ้นไอพีโอที่เปิดการซื้อขายวันแรกปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาจองซื้อสูงสุด คือ KEX เริ่มซื้อขายวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ราคาเปิดที่ 65.00 บาท เพิ่มขึ้น 37.00 บาท หรือ 132.14% จากราคาไอพีโอที่ 28.00 บาท 

 

หน้า 14 หนังสืออพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564