ข่าวเด่น - ข่าวดัง "เกษตร" รอบปี63

31 ธ.ค. 2563 | 08:25 น.

ปรากฏการณ์แห่งปี63 “โควิด-19” ไวรัสมรณะลามโลก “รัฐไทย” อุ้ม “เยียวยาเกษตรกร” ผ่านแอพ ยกระดับเกษตรกรไทย4.0 จ่อติด “ประกันรายได้เกษตรกร” กับ “แบนสารเคมีเกษตร” ปิดท้าย “แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว” ขรก.สกัดการเมืองล้มดีล

ปี 2563 เกิดปรากฏการณ์ระดับโลกที่มวลมนุษยชาติต้องจดจำ นั่นคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1.74 ล้านคน (ณ 25 ธ.ค.) หลายประเทศกลับมาระบาดรอบใหม่ ต้องสั่งล็อกดาวน์ประเทศ 

 

ขณะที่ไทยมีการล็อกดาวน์ในบางจังหวัด มีการกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นสีแดง (ควบคุมสูงสุด) สีส้ม (ควบคุม) สีเหลือง(เฝ้าระวังสูง) สีเขียว (เฝ้าระวัง) ทำบรรยากาศเทศกาลรื่นเริงทั้งคริสต์มาสและปีใหม่เงียบเหงา รัฐบาลขอความร่วมมือ “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ใครคาดเดาได้ว่าในอีก 100 ปี หรือ 1,000 ปี ข้างหน้าจะมีอย่างนี้อีกหรือไม่ อย่างไรก็ดีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนของรัฐบาลยังต้องเดินหน้าต่อไป 

 

 

สำหรับประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จากมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" มีสินค้าเด่นทั้งข้าว ยางพารา สินค้าปศุสัตว์ ประมง และอื่นๆ ที่เหลือบริโภคในประเทศต้องส่งออกนำเงินตราเข้าประเทศแต่ละปีมูลค่ามหาศาล ขณะที่สินค้าเกษตรไทยในเวทีโลกยังต้องเผชิญความผันผวนราคาขึ้น-ลงตามกลไกตลาด ส่งผลถึงราคาสินค้าสินค้าในประเทศรวมถึงเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องยังต้องเผชิญความเสี่ยง ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย แต่คนยังต้องกินต้องใช้ ทำให้ในปี 2563 มีเหตุการณ์เด่นที่ต้องบันทึกดังนี้

 

1.โครงการช่วยเหลือ “เงินเยียวยาเกษตรกร” ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เป็นการให้เปล่าทุกอาชีพเกษตรกร  จ่ายเยียวยาเกษตรกร ทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย รวม 1.13 แสนล้านบาท

 

 

ตามด้วย 2. “โครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี2”  ใน 5 พืชเกษตร ได้แก่ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และ ข้าวโพด ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นนโยบายประชานิยมของรัฐบาล แต่ในมุมเกษตรกรต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีโครงการอะไรดีไปกว่านี้แล้วในยามนี้ แม้ในตอนแรกหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจในหลายเรื่อง เช่นการเคาะราคากลางเกณฑ์อ้างอิงที่ไม่ใช่ราคาที่ซื้อขายจริง มีเสียงท้วงติงเอื้อนายทุนทุบราคาขายในตลาด พ่อค้ากดราคาผลักภาระให้รัฐแบกชดเชยส่วนต่างสารพัดเรื่อง ซึ่งพอรัฐจ่ายชดเชยไปมากทั้งในบางสินค้าที่ราคาตกและโครงการคู่ขนาน โครงการทำท่าจะสะดุด จากเงินหมุนเวียนที่ต้องควักจ่ายเพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายแล้วเกษตรกรยังเรียกร้องว่ายังต้องมี และขณะนี้ได้กลายเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว  

 

ข่าวเด่น - ข่าวดัง "เกษตร" รอบปี63

 

 

 

ลำดับที่ 3 “แบนสารเคมีเกษตร” เป็นปรากฏการณ์ทั้งโลกต้องหันมามอง ไม่ใช่แค่เมืองไทย เพราะเหรียญมีสองด้าน ด้านหนึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอันดับต้นๆ ของโลก แต่อีกด้านหนึ่งไทยก็เป็นผู้นำเข้าสารเคมี และนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตรมาใช้ในประเทศรวมถึงใช้แปรรูปส่งออกเช่นกัน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลประกาศจะแบน 3 สารเคมีเกษตร ที่เกษตรกรทั่วโลกนิยมใช้ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ กระทบผู้มีส่วนได้-เสียในวงกว้าง แต่สุดท้ายแล้วสามารถแบนได้ 2 สาร คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ส่วนไกลโฟเซต ให้จำกัดการใช้ ทำให้ชื่อของ “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักการเมืองจากพรรคภูมิใจไทย ที่ผลักดันในเรื่องนี้อย่างเข้มแข็งทำผลงานโดนใจผู้บริโภค และเอ็นจีโอ  แม้จะมีเสียงเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่พอใจ เพราะยังไม่มีสารทดแทน ทำให้การทำเกษตรกรรมลำบากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น

 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

ลำดับที่ 4 ล้มดีล “แจกเมล็ดพันธุ์ข้าว” อื้อฉาว ยุคมืด “กรมการข้าว” ที่ต้องย้อนไปดูมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ตุลาคม 2562 ได้เห็นชอบให้กรมการข้าวจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำท่วมปี 2562 ในโครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี2563/64 จำนวน 63,200 ตัน วงเงิน 1,739 ล้านบาท ในจำนวนนี้ต้องซื้อจากสหกรณ์การเกษตร จำนวน 1.43 หมื่นตัน วงเงิน 400 ล้านบาท สนับสนุนแบบให้เปล่าแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 827,000 ครัวเรือน จำนวน 17 จังหวัด แต่ปรากฎว่ามีปัญหาในส่วนของจัดซื้อจัดจ้างส่วนของ “สหกรณ์การเกษตร” กระแสข่าวที่เกิดขึ้นว่ากันว่ามี การเมืองเข้าแทรก แลกผลประโยชน์กัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่นั้นต้องพิสูจน์ 

 

 

แต่ความจริงที่จับต้องได้คือ สาเหตุที่ทำให้ข้าราชการลุกฮือต้าน เพราะไม่แน่ใจว่า เมล็ดพันธุ์ข้าว ที่ซื้อจากสหกรณ์จะได้ตามมาตรฐานจริงหรือไม่ กลัวโดนฟ้องร้องภายหลัง กลัวความผิด ผวาติดคุกในยามแก่ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม บางคนยอมลาออกจากราชการก่อนเกษียณ และในที่สุดเมื่อความจริงเริ่มตีแผ่ จึงต้องมีการล้มดีล แบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ขุ่น เกษตรกรไม่รอแจก หลังปลูกไปกว่า 85% จึงได้แจ้งไปยังสหกรณ์การเกษตรนั้นเพื่อขอยกเลิก 

 

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564