"จ้างงานเด็กจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา" ครม.ปรับเงื่อนไข-ขยายเวลาโครงการถึง 31 ธ.ค.64

29 ธ.ค. 2563 | 08:39 น.

ครม.ปรับเงื่อนไขโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ หรือ Co-Payment จำนวน 2.6 แสนอัตรา ช่วยนักศึกษาตกงานและจบใหม่ปี 64 ขยายเวลาถึง 31 ธ.ค. 2564 

วันที่ 29 ธ.ค. 63 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ว่า ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติ "โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน (Co-Payment)" กรอบวงเงิน 1.94 หมื่นล้านบาท เพื่อส่งเสริมการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา

 

จากการประเมินผลโครงการฯ ช่วง 1 ตุลาคม – 18 ธันวาคม 2563 พบว่า ยังมีผู้จบการศึกษาใหม่ที่ไม่สามารถเข้าโครงการได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ คือ ต้องเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และจบการศึกษาในปีการศึกษา 2562 หรือ จบในปี พ.ศ.2563

 

ทั้งนี้ ในสภาพความเป็นจริง มีนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากอยู่ในระบบประกันสังคมมาแล้ว 1-6 เดือน แต่ต้องออกจากงานในขณะที่ยังไม่ผ่านการทดลองงาน เพราะนายจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกทั้ง คาดว่าจะมีนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 จำนวน 4.27 แสนคน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่รัฐบาลได้ตั้งไว้ ครม. จึงมีมติอนุมัติปรับปรุงเงื่อนไขโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

1.ปรับคุณสมบัติผู้จบการศึกษาใหม่ คือ 

- ผู้มีสัญชาติไทย

- มีอายุไม่เกิน 25 ปี

- หากอายุเกิน 25 ปี ต้องจบการศึกษาปี 2562 เป็นต้นไป

 

จากเดิมที่กำหนดไว้

- มีสัญชาติไทย

- ไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคม ยกเว้นกรณีมีผู้จบการศึกษาใหม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม  เนื่องจากการทำงานนอกเวลาเรียนในระหว่างที่กำลังศึกษา

- มีอายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกิน 25 ปี จบการศึกษาประจำปีการศึกษา 2562 หรือจบภายในปี พ.ศ.2563

 

เงื่อนไขสำหรับนายจ้าง

- ปรับใหม่เป็น ให้เป็นไปตามข้อตกลงการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ต้องไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง โดยรัฐบาลให้การอุดหนุนเงินเดือน ไม่เกิน 50% ต่อคนต่อเดือน  

 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไปตามวุฒิการศึกษา ได้แก่

- ปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท

- ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท

- ปวช. ไม่เกิน 4,700

- ม.6 ไม่เกิน 4,345 บาท

 

จากเดิมที่กำหนดไว้ คือ ค่าจ้างตามวุฒิการศึกษา ได้แก่ ปริญญาตรี ไม่เกิน 15,000 บาท ปวส. ไม่เกิน 11,500 บาท ปวช. ไม่เกิน 9,400 และ ม.6 ไม่เกิน 8,690 บาท

3.เงื่อนไขการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ลูกจ้าง ปรับใหม่เป็น รัฐจ่ายเงินอุดหนุน 3 ครั้งต่อเดือน จากเดิมที่กำหนดให้ นายจ้างจ่ายค่าจ้างเดือนละ 1 ครั้ง (ภายในสิ้นเดือน) เพื่อให้สอดคล้องกับรอบการจ่ายเงินค่าจ้างของนายจ้าง ดังนี้

1. นายจ้างจ่ายค่าจ้างภายในสิ้นเดือน รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

 

2. นายจ้างจ่ายค่าจ้างหลังสิ้นเดือน (ภายในวันที่ 1-5 ของเดือนถัดไป) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป

 

3. นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามข้อ 1 และ ข้อ 2 แต่การจัดทำเอกสารในระบบไม่สมบูรณ์ รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

 

และนอกจากนี้ครม.มีมติขยายระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ จากเดิม คือ ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน (ปีงบประมาณ 2564 เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 )ขยายไปจนถึง 31 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ลูกจ้างที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ครบ 1 สิทธิ์ 1 ปี ต่อ 1 คน ระยะเวลาการจ้างงานครบ 12 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2564