‘ดีอีเอส’ เปิดสถิติ 10 ข่าวปลอมที่แชร์มากสุดในปี 63

29 ธ.ค. 2563 | 07:24 น.

ดีอีเอส เปิดสถิติ 10 อันดับข่าวปลอมที่แชร์มากที่สุดในปี 63 ระบุข่าวปลอม ข่าวจริง และข่าวบิดเบือนบนโซเชียลอยู่ในสัดส่วน 7:2:1

    นายภุชพงค์  โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)  นายภุชพงค์  โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า จากที่ได้รับมอบหมายจากนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันตน์ รมว.ดีอีเอส ในการเร่งแก้ไขปัญหาข่าวปลอม โดยมีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เป็นกลไกสำคัญ และถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล มุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอมที่สร้างความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง ล่าสุดศูนย์ฯ ได้รวบรวมข้อมูลจัดอันดับ 10 ข่าวปลอมที่มีการนำมาแชร์ซ้ำบ่อยสุดในรอบปี 2563 

‘ดีอีเอส’ เปิดสถิติ 10 ข่าวปลอมที่แชร์มากสุดในปี 63        ทั้งนี้พบว่าสัดส่วนหลักอยู่ในหมวดสุขภาพ รวมทั้ง 3 อันดันแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้า ไม่ต้องเสียภาษี  อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อยช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี

      “จากข้อมูลที่รวบรวมได้ สอดคล้องกับภาพรวมของจำนวนข่าวที่ผ่านการคัดกรองเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบในปีนี้ที่มีทั้งหมดกว่า 7 พันเรื่อง ในจำนวนนี้อยู่ในหมวดสุขภาพถึง 56% หรือกว่า 4 พันเรื่อง” นายภุชพงค์กล่าว

      อย่างไรก็ตามปีนี้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วทั้งหมด 4,198 เรื่อง พบสัดส่วนข่าวปลอม : ข่าวจริง : ข่าวบิดเบือน อยู่ที่ 7:2:1 โดยดำเนินการเผยแพร่ข่าวที่ตรวจสอบไปแล้ว 1,163 เรื่อง หมวดหมู่ที่ทำการประชาสัมพันธ์มากที่สุด คือ หมวดหมู่สุขภาพ คิดเป็น69% ตามด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ หมวดหมู่ภัยพิบัติ และหมวดหมู่เศรษฐกิจ