นำศักยภาพไมโครซอฟท์ Empower สร้างอิมแพ็คประเทศไทย

28 ธ.ค. 2563 | 12:29 น.

จะทำยังไงให้สามารถรู้ว่า มันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น ลูกค้าต้องการอะไร แล้วนำสินค้าและบริการเข้าไปตอบสนองให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนั่นหมายถึงความเร็ว (Speed) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งการอยู่รอด

จากพันธกิจ (Mission) ของไมโครซอฟท์ ที่ว่า " Empower every person and every organization on the planet to achieve more"...คือแม่เหล็กดึงดูดตัวสำคัญ ที่ทำให้ "ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์" ก้าวเข้ามารับหน้าที่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

"ส่วนตัวผม เข้ามาไมโครซอฟท์ เพราะความชอบใน Mission Statement ของไมโครซอฟท์อยู่แล้ว เราอยากใช้ไมโครซอฟท์เป็นแพลทฟอร์มมาช่วยประเทศไทย นี่คือ มิชชั่นส่วนตัว พอเจอเหตุการณ์โควิด ที่เกิดขึ้น จึงเป็นโอกาสหนึ่งที่จะเอาไมโครซอฟท์ แพลทฟอร์มไปช่วย เข้าไปซัพพอร์ตในทุกภาคส่วนทั้งภาครับและเอกชน และคนทั่วไป"

"คุณเต้ย - ธนวัฒน์" เล่าว่า ได้ร่วมทำงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 – กระทรวงมหาดไทย (ศบค.) และกระทรวงสาธารณสุข โดยบูรณาการข้อมูลจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และนำไปสู่การทำงานที่ถูกต้อง อาทิ การเตรียมพร้อมบุคลากร การประกาศล็อคดาวน์ และอื่นๆ
 

รวมไปถึง การต่อยอดสู่การทำพรีเซนเตชั่น เปลี่ยนข้อมูลเป็นภาพ หรือกราฟ สร้างมุมมองใหม่ในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น มีเตียงคนไข้เหลือเท่าไร อยู่ที่ไหน จำนวนหน้ากาก ปริมาณยา ทำให้ประเมินกำลังความสามารถของไทยในการรองรับผู้ป่วยได้

นำศักยภาพไมโครซอฟท์ Empower สร้างอิมแพ็คประเทศไทย

นี่คือการบริหารข้อมูลที่มาจากดิจิทัล แล้วถ้าเราเอาข้อมูลจากทุกภาคส่วน จากระทรวงต่างๆ มาบูรณาการ แล้วเราเห็นดีมานท์ไซด์...ตอนนี้ทุกคนต้องการทำ agriculture tech เพื่อเอาทำ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง หรือทำสมาร์ทเฮลท์แคร์ สมาร์ทซิตี้ แล้วซัพพลายไซด์ล่ะ ทำอย่างไรให้มันแมทช์ นี่คือสิ่งที่ดิจิทัล และข้อมูล สามารถทำให้ตอบโจทย์ได้ ไม่งั้นเราเทรนด์คน 1 ล้านคน แต่ได้คนที่มีศักยภาพไม่ตรงกับความต้องการ ก็ไม่เกิดประโยชน์

"คุณเต้ย" ย้ำว่า Mission Statement ของไมโครซอฟท์ คือ ความต้องการเอ็มพาวเวอร์ทุกคน และทุกองค์กร ให้บรรลุเป้าหมาย มิชชั่นของเราไม่ได้โฟกัสแค่การทำโปรดักส์ให้ขายได้ หรือทำกำไร แต่ยังมีมิชชั่นที่ต้องการช่วยโลก ช่วยคน ให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งคนของไมโครซอฟท์ก็มีจิตสึกนึกตรงนี้เช่นกัน ที่ผ่านมา คนของไมโครซอฟท์จึงพร้อมนำทักษะ และเครื่องมือที่ไมโครซอฟท์มี เข้าไปช่วยบูรณาการให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยเป้าหมายใหญ่ของไมโครซอฟท์ตอนนี้คือ การขับเคลื่อนเรื่อง ReSkill - UpSkill พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนไทย 10 ล้านคน ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน  

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่น่าตื่นเต้น และน่าสนใจ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเนื่องไม่ใช่ครั้งเดียวจบ และไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ ไมโครซอฟท์แม้จะเป็นองค์กรด้านดิจิทัล ที่หลายคนคาดว่าจะค่อนข้างเป็นโอกาสของธุรกิจ แต่ที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากลูกค้าประหยัดงบ การจะใช้บริการก็ลดปริมาณลง

ในฐานะผู้นำองค์กร "คุณเต้ย" บอกว่า สิ่งที่ทำได้ คือ จะทำยังไงให้สามารถรู้ว่า มันกำลังจะเกิดอะไรขึ้น ลูกค้าต้องการอะไร แล้วนำสินค้าและบริการเข้าไปตอบสนองให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งนั่นหมายถึงความเร็ว (Speed) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งการอยู่รอด หรือความสำเร็จของการทำธุรกิจในยุคนี้
 

อีกเรื่องคือ New Skill เรื่องดิจิทัลสกิลสำคัญ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีง่ายมาก อย่างการสอน  Microsoft Power BI สอนแค่ครึ่งวัน สามารถใช้ได้แล้ว ไม่ต้องมานั่งจำ coding commandsแค่เอาไฟล์จาก Excel ดร็อปเข้า Power BI แล้วเลือกออกมาเป็น Dashboard Tech เครื่องมือมันง่ายมาก และและสุดท้าย คือ Cyber Security และ Data Privacy เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมันหมายถึง ความน่าเชื่อถือของบริการที่เรามีให้กับลูกค้า

ทั้งหมดนั่น คือ เรื่องของทักษะดิจิทัลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ความท้าทายของ "คุณเต้ย" และไมโครซอฟท์ขณะนี้ คือ จะทำอย่างไรที่เข้าไปช่วยทุกภาคส่วนพัฒนาเรื่องดิจิทัลได้เร็วที่สุด คนที่ไม่เป็นเรื่องดิจิทัล ไม่ใช่เขาไม่มีความสามารถ ไม่ใช่ไดโนเสาร์ เขามีทักษะอื่น อาทิ ทักษะด้านบิซิเนสดีมาก คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ขั้นเทพก็แก้ไขปัญหาบิซิเนสไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าจเข้าไปแก้ตรงไหน เพราะฉะนั้น หากสามารถเข้าไป ReSkill - UpSkill ด้านดิจิทัลให้คนที่ยังทักษะตรงนี้ได้ ก็จะช่วยให้องค์กรต่างๆ เดินหน้าต่อ

นำศักยภาพไมโครซอฟท์ Empower สร้างอิมแพ็คประเทศไทย

ในฐานะผู้นำองค์กร การนำพาไมโครซอฟท์ให้เข้าไปตอบโจทย์ Mission ขององค์กร "คุณเต้ย" บอกว่า ความท้าทาย คือ เรายังเร็วไม่พอ และยังมี capacity ไม่พอ วันนี้ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนมีปัญหาเยอะมาก ซึ่งวันนี้ เขากำลังใช้ความท้าทายตรงนี้มาสร้างให้เป็นโอกาส ด้วยการจับมือกับสตาร์ทอัพ พาร์ทเนอร์ สร้างและพัฒนาคนที่มีดิจิทัลสกิลเข้ามารองรับ ซึ่งมิชชั่นนี้เป็น journey หรือการเดินทางที่ต้องทำไปเรื่อยๆ ทุกองคืกร ทุกเซ้กเม้นท์ เพราะแต่ละที่จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน

"คุณเต้ย" บอกว่า เขาอยากเห็นไมโครซอฟท์ สร้างอิมแพ็คให้ประเทศไทย เขามีเป้าหมายที่จะนำพาให้ไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นอินเตอร์เนชั่นนัลคอมปานี่ สามารถช่วยให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ด้านบิซิเนส แต่หมายถึงด้านสังคม คนพิการ ผู้สูงอายุ เด็กๆ รวมถึงชุมชน...ผมอยากทำให้ทีมไทยแลนด์ และโกลบอลเวิลด์วายด์ สามารถสร้างอิมแพคให้ไทยได้ นี่คือความฝันของผม

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,638 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563