Food Waste กับนวัตกรรมรีไซเคิล เพื่อผู้ขาดแคลนอาหาร-รักษ์โลก

27 ธ.ค. 2563 | 03:58 น.

จากข้อมูลของ UN’s World Population Prospects 2019 เผยว่าในขณะที่หลายประเทศเผชิญกับปัญหาผู้คนป่วยเป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป ยังมีคนในอีกหลายประเทศที่ขาดแคลนอาหาร โดยแต่ละปีมีคนทั่วโลกกว่า 36 ล้านคน ต้องเสียชีวิตเพราะความหิวโหย ซึ่งที่มาของปัญหานี้เกิดจากการที่ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้จะกลายเป็น “ขยะอาหาร” ซึ่งยังสามารถรับประทานได้ และควรนำไปให้แก่ผู้หิวโหยที่กำลังอดอยาก

 

 สำหรับประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 5,000-6,000 ตันต่อวัน  โดยมีสถิติระบุชัดเจนว่า ในจำนวนขยะที่เราต้องจัดการทั้งหมด มีถึง 64% ที่เป็นขยะอาหาร (Food Waste)   ซึ่งขยะมีหลายประเภท แต่ขยะอาหารจากอาหารที่กินเหลือในระดับครัวเรือน เศษอาหารและวัตถุดิบเหลือใช้จากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร หรือแม้แต่อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายตามห้างร้าน กลับมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าขยะประเภทอื่น โดยในปี 2573 ไทยกำหนดเป้าหมายลดขยะอาหารให้ได้ 50% ตามนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 12.3 ของสหประชาชาติ (UNSDG Target 12.3)

 

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ให้คำนิยามของ “Food Waste” หรือ ขยะอาหาร ไว้ว่า คือ การสูญเสียอาหารในตอนปลายของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งก็คือขั้นตอนการขายปลีกและการบริโภค เชื่อมโยงไปยังพฤติกรรมของผู้ค้าปลีก ผู้บริโภค และการบริโภค

 

Food Waste กับนวัตกรรมรีไซเคิล เพื่อผู้ขาดแคลนอาหาร-รักษ์โลก

รายงานของ FAO ยังระบุด้วยว่า แต่ละปีทั่วโลกจะมีขยะจากอาหารที่ถูกทิ้งราว ๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้นทุกปี 

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยภาคธุรกิจได้เริ่มตระหนักถึงเรื่องขยะอาหาร โดยผู้ริเริ่มส่วนใหญ่เป็นสาขาของบริษัทต่างชาติ ที่บริษัทแม่มีนโยบายลดขยะอาหาร เช่น  IKEA เทสโก้โลตัส และโรงแรมขนาดใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ต่างมีแนวคิดขับเคลื่อนการลดปริมาณขยะอาหาร โดยนำอาหารส่วนเกินที่ยังมีคุณภาพดีไปบริจาค ผ่านหน่วยงานเพื่อการกุศลซึ่งเป็นตัวกลางในการนำอาหารไปบริจาคให้ผู้ที่มีความต้องการหรือกำลังขาดแคลนอาหาร

 

ปัจจุบันมีเพียง SOS (Scholars of Sustenance) ที่เป็นตัวกลางในการนำอาหารไปบริจาคที่มีมาตรฐานในการขนส่งโดยจะรับบริจาคจากห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้า และบุคคลทั่วไปที่มีความประสงค์ให้ “โครงการรักษ์อาหาร” เป็นตัวแทนนำไปส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ หรือกำลังขาดแคลนอาหาร ซึ่งอาหารที่จะบริจาคร่วมกับโครงการรักษ์อาหารจะต้องเป็นอาหารที่ยังอยู่ในสภาพดีและมีคุณภาพ โดยทางโครงการจะมีการตรวจสอบ คัดกรองก่อนนำส่งมอบทุกครั้ง  ซึ่งขณะนี้ทางกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ Scholars of Sustenance Thailand ได้มีการดำเนินงานร่วมกัน โดยมีจดประสงค์เพื่อลดการเกิด food waste จากอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปอีกด้วย

 

Food Waste กับนวัตกรรมรีไซเคิล เพื่อผู้ขาดแคลนอาหาร-รักษ์โลก

 ปัจจุบันมีการนำเอานวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดการเกิด food waste และนวัตกรรมที่นำ food waste มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น “AuReus” แผงโซล่าเซลล์จากเศษผักที่สามารถเปลี่ยนรังสี UV เป็นพลังงาน, “INNOWASTE” เครื่องผลิตปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้ง, Bio-Soil โดยสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้พัฒนาเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ และสามารถนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้และบำรุงดินที่เสื่อมสภาพให้กลับมามีคุณภาพได้

 

  “สถานการณ์วิกฤติโลกร้อน รวมถึงวิกฤติขยะอาหารเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจร้านอาหาร  โรงแรม และผู้ประกอบการผลิตอาหารเองควรมีส่วนรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหานี้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่หลากหลายที่จะมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไข จัดการกับปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่เราทุกคนจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหารสำหรับในปัจจุบันและอนาคต ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาช่วยกันลดการสูญเสียอาหารโดยไม่จำเป็น จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งต่อคน สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ทั้งช่วยรับมือปัญหาขาดแคลนอาหารในอนาคตจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และช่วยลดปัญหาโลกร้อนด้วย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,639 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม พ.ศ. 2563