DELTA ลุ้นมาร์เก็ตแคปขึ้นอันดับ 2

27 ธ.ค. 2563 | 01:31 น.

ราคาหุ้น DELTA พุ่งไม่หยุด ตั้งแต่ต้นปีปรับขึ้น 1,178.50% ดันมาร์เก็ตแคปแตะ 853,209.02 ล้านบาท ทะยานขึ้นสู่อันดับ 3 ลุ้นวันจันทร์ขึ้นอีกเพียง 5% จ่อแซง AOT

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ราคาหุ้นบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) ยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2563 ปิดที่ 684.00  บาท เพิ่มขึ้น 148.00 บาท หรือ 27.61% โดยตั้งแต่ต้นปีปรับเพิ่มขึ้น 630.50 บาท หรือ 1,178.50% จากวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ปิดที่ 53.50 บาท และระยะเวลาเพียง 1 เดือน ปรับเพิ่มขึ้น 453.00 บาท หรือ 196.10% จากสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ปิดที่ 231.00 บาท

 

ขณะที่ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 853,209.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 786,474.10 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 66,734.92 ล้านบาท ปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 3 จากอันดับที่ 54 เมื่อสิ้นปีก่อน รองจากอันดับ 2 คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) อยู่ที่ 892,896.25 ล้านบาท และอันดับ 1 คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) อยู่ที่ 1,199,645.84 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ราคาหุ้น DELTA ปรับเพิ่มขึ้นแรงต่อเนื่องเกิน 5% หรือมากกว่าหุ้นละ35.00 บาท และ AOT ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือปรับขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก จะทำให้มาร์เก็ตแคปDELTA แซงขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 แทน AOT จากมาร์เก็ตแคปที่แตกต่างกันเพียง 39,647.23 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลการซื้อขายในเว็บไซต์ตลท. พบว่า ใน 1 สัปดาห์ หรือ วันที่ 21-25 ธันวาคม 2563 ราคาหุ้น DELTA ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 64.60 บาท ส่วน AOT เฉลี่ยวันละ 0.05 บาท ด้านมาร์เก็ตแคปDELTA ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 80,580 ล้านบาท ส่วน AOT ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 714.28 ล้านบาทเท่านั้น

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่ดีของ DELTA จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเกิดการ Work from home หนุนความต้องการใช้ระบบคลาวด์และดาต้าสูงขึ้น จากการเริ่มประชุมผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงการซื้อขายของออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ ซึ่ง DELTA เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการจัดการระบบกำลังไฟฟ้า (Power management solutions) รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จึงได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นเกินราคาพื้นฐานที่นักวิเคราะห์เคยประเมินไว้ที่หุ้นละ 200-250 บาท

 

นอกจากนี้ มองว่าเกิดจากจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดที่ลดลง หรือมีจำนวนไม่มาก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ราคาจะปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) (BAY) โดยปัจจุบัน DELTA มีหุ้นที่เหลือหมุนเวียนเพียง 10% จากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือรวมประมาณ 90% 

 

“การที่ DELTA มีความเคลื่อนไหวของราคาที่รุนแรง แต่ไม่ติดเกณฑ์แคชบาลานซ์นั้น เนื่องจากการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free float) อยู่ที่ 22.35% ซึ่งยังไม่เข้าเกณฑ์ของตลท. ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้เข้าซื้อในช่วงนี้ เนื่องจากมีสัญญาณการเก็งกำไรค่อนข้างสูง และต้องพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของราคากับผลการดำเนินงานว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงนักลงทุนที่จะเข้าไปซื้อ ต้องประเมินว่าเข้าได้หรือไม่ และมีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด”