บริหาร“ประณีต” รับมือโควิดรอบใหม่

26 ธ.ค. 2563 | 01:10 น.

บริหาร“ประณีต” รับมือโควิดรอบใหม่ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3639 หน้า 12 ระหว่างวันที่ 27-30 ธ.ค.2563 

 

          มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ​ หรือ ศบค. ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ไม่มีการสั่งล็อกดาวน์ประเทศ แต่ใช้การแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ การควบคุมสูงสุด การควบคุม การเฝ้าระวังสูง และการเฝ้าระวัง ตามระดับความรุนแรงของปัญหา พร้อมทั้งให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รับผิดชอบพื้นที่และออกมาตรการตามที่จำเป็น  

          ก่อนหน้านั้นมีความสับสนอย่างมากว่า รัฐบาลอาจตัดสินใจสั่งล็อกดาวน์ประเทศอีกครั้ง จากตัวเลขผู้ติดเชื้อรอบใหม่ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง ทั้งกรณีผู้ติดเชื้อตะเข็บชายแดนที่ตาก กลุ่มคนไทยที่ไปทำงานฝั่งท่าขี้เหล็กตรงข้ามอ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ลักลอบกลับประเทศ และใหญ่สุดคือคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งมหาชัย ในกลุ่มก้อนแรงงานต่างด้าว ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้่อทะลุ 1,260 คนขึ้นไปแล้ว  และผู้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับตลาดที่กระจายตัวไปหลายสิบจังหวัดทั่วประเทศ 

          การกลับมาระบาดรอบใหม่ของเชื้อโควิด-19 ในเดือนสุดท้ายของปี 2563 ดับฝันการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงท้ายปี และยิ่งทำให้โอกาสฟื้นตัวปีหน้ามีปัจจัยลบมาถ่วงเพิ่มขึ้น การประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และปรับคาดการณ์จีดีพีปี 2563 เหลือติดลบ 6.6% จากเดิมคาดติดลบ 7.8% และปี 2564 คาดขยายตัวเป็นบวก 3.2 % ต่ำกว่าที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินไว้ที่ 4% ก่อนมีปัจจัยการระบาดรอบใหม่ 

          การล็อกดาวน์พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อคุมการระบาดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่นี้ หากปิดยาว 1 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 45,000 ล้านบาท ขณะที่หอการค้าจังหวัดสมุทรสาครก็ชี้ว่า ที่ผ่านมาเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของจังหวัดแล้ว 16,000 ล้านบาท    

          เราเห็นว่าการเลือกใช้มาตรการแบบจำแนกตามความรุนแรงของแต่ละพื้นที่ น่าจะสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ที่ต้องบริหารจัดการปัญหาที่ต้องมีดุลยภาพ ทั้งการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดรอการมาของวัคซีน ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประคองตัวผ่านภาวะที่ยากลำบากไปให้ได้ เนื่องจากผลสำเร็จของการควบคุมโรครอบแรก ทำให้เรามีทั้งกลไกการรับมือกับปัญหา 

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีองค์กรการบริหารพร้อมรับมือวิกฤติ และองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการกระตุ้นความร่วมมือประชาชนให้เคร่งครัดการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ