ฟ้องนายทะเบียนฯ เหตุกรรมการถูกปลด... โดยไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นจริง!!

25 ธ.ค. 2563 | 02:05 น.

 

 

คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย นายปกครอง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,639 หน้า 5 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม 2563

 

 

COVID-19 สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งบ้านเราเกิดการชะลอตัวหรือซบเซา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ ไปจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แม้ว่าระยะหลังมานี้เริ่มจะมีการเคลื่อนไหวของนักท่องเที่ยวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากบ้านเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่อาจวางใจได้!! เพราะสถานการณ์ปัจจุบันได้เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคเกิดขึ้นในบ้านเราอีกครั้ง ฉะนั้น ช่วงนี้ การ์ดอย่าตก! เชียวนะครับ 

ที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผล กระทบออกมาหลายอย่าง และในด้านของผู้ประกอบการเองก็ได้มีการปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายมาเป็นออนไลน์ รวมถึงการปรับลดอัตราพนักงานและ การเปลี่ยนกรรมการหรือผู้บริหารใหม่ 

อุทาหรณ์จากคดีปกครองในวันนี้... นายปกครองก็ได้นำข้อพิพาทกรณีบริษัทแห่งหนึ่งได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทและที่ตั้งสำนักงาน โดยกรรมการที่ถูกปลดโต้แย้งว่าเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาให้ศึกษากันครับ

คดีมีข้อเท็จจริงว่า... นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒) ได้รับจดทะเบียนเปลี่ยน แปลงกรรมการและที่ตั้งสำนักงานของบริษัท ก. จำกัด เป็นเหตุให้กรรมการ ๙ คน (รวมผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๖) ต้องพ้นจากการเป็นกรรมการ โดยกรรมการที่ถูกปลดออกรวมทั้งผู้ถือหุ้นรายอื่นและผู้ฟ้องคดีทั้งแปดไม่เคยทราบถึงการประชุมและการลงมติเพื่อเปลี่ยนแปลงกรรมการและที่ตั้งสำนักงานดังกล่าวเลย จึงได้มีหนังสือถึงนายทะเบียนฯ ขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าว 

นายทะเบียนฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่เป็นที่ยุติว่ามีการประชุมจริงหรือไม่ และพยานหลักฐานของฝ่ายใดถูกต้อง จึงยังไม่อาจเพิกถอนการจดทะเบียนดังกล่าวได้และได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบ 

ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสืออุทธรณ์ ซึ่งผู้อำนวยการกองบริการจดทะเบียนธุรกิจ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓) มีหนังสือแจ้งยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและที่ตั้งสำนักงานของบริษัท ก. จำกัด 

คดีมีประเด็นปัญหาว่า... ข้อพิพาทเกี่ยวกับการจดทะเบียนเปลี่ยน แปลงกรรมการบริษัท และที่ตั้งสำนักงานของบริษัท รวมทั้งการปฏิเสธไม่เพิกถอนการจดทะเบียนตามคำขอของผู้ถือหุ้น เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ ? 

 

 

 

 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายทะเบียนฯ มีหนังสือแจ้งคำสั่งยกคำขอให้เพิกถอนรายการ จดทะเบียนของบริษัท ก. ซึ่งก็คือ การมีคำสั่งปฏิเสธไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนตามคำขอ เมื่อผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการปฏิเสธดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ 

แม้ว่าในการที่ศาลจะพิจารณาว่าการรับจดทะเบียนที่พิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และข้อบังคับของบริษัท ก. จำกัด ก่อน ซึ่งเป็นข้อพิพาทภายใต้ระบบวิธีพิจารณาความแพ่งอันอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมก็ตาม 

 

 

ฟ้องนายทะเบียนฯ เหตุกรรมการถูกปลด...  โดยไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นจริง!!

 

 

แต่โดยที่ข้อ ๔๑ วรรคสอง แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดว่า “ในกรณีที่คดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นข้อหาใด มีหลายประเด็นเกี่ยวพันกัน และปรากฏว่ามีประเด็นที่จำเป็นต้องวินิจฉัยก่อนจึงจะวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้อยู่ในอำนาจหรือเขตอำนาจของศาลปกครองชั้นต้นอื่นหรือศาลอื่นซึ่งมิใช่ศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นซึ่งรับคดีไว้ มีอำนาจวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันกันที่ต้องวินิจฉัยก่อนนั้นเพื่อให้ศาลสามารถวินิจฉัยประเด็นหลักแห่งคดีได้” ดังนั้น ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาประเด็นเกี่ยวพันซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมดังกล่าวได้

 

 

 

 

 

 

โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๕๑ บัญญัติว่า “อันผู้เป็นกรรมการนั้น เฉพาะแต่ที่ประชุมใหญ่เท่านั้นอาจจะตั้งหรือถอนได้” และมาตรา ๑๑๕๗ บัญญัติว่า “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง” 

จึงเห็นได้ว่า การจดทะเบียน ตามมติของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่เปลี่ยนแปลงกรรมการของบริษัทภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่ตั้งกรรมการขึ้นใหม่นั้น เป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดบังคับให้ต้องกระทำ และการรับจดทะเบียนดังกล่าวถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากการรับจดทะเบียนดังกล่าว หากว่ากระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๒๗/๒๕๖๓)

สรุปได้ว่า การที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทฯ รับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและที่ตั้งสำนักงานของบริษัท รวมทั้งการปฏิเสธไม่เพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวตามคำขอ ซึ่งมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากกรณีดังกล่าวเห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน (เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง) อันเป็นประเด็นหลักของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาในประเด็นเกี่ยวพันกันที่ต้องวินิจฉัยก่อนได้ครับ!