เลือกตั้ง อบจ. “ดับอหังการ” คณะก้าวหน้า

24 ธ.ค. 2563 | 06:00 น.

เลือกตั้ง อบจ. “ดับอหังการ” คณะก้าวหน้า : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3638 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 24-26 ธ.ค.2563 โดย... ว.เชิงดอย

 

          +++ คนไทยในหลายจังหวัดต้องกลับมาอยู่ในภาวะที่ต้องหวาดกลัว “ไวรัสมฤตยูโควิด-19” กันอีกคำรบหนึ่ง เมื่อพบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายตัวนี้ในหมู่ “ชาวเมียนมา” ที่เข้ามาทำมาหากินเป็นแรงงานลูกจ้างกันอยู่ในเมืองไทย โดยเฉพาะที่ “สมุทรสาคร” และมีคนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดก็พลอยรับเชื้อติดโควิดไปด้วย  โดยส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่สมุทรสาคร ณ เวลา 10.00 น.ของวันที่ 21 ธันวาคม 2563 นั้น พบมีการติดเชื้อเพิ่มอีก 127 ราย รวมผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 821 คน โดยตรวจทั้งหมดจากยอดประมาณ 2,000 ราย และในตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 90% 

          +++ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม.  สรุปว่า พบผู้ป่วยเพิ่ม 2 ราย รวมผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ จำนวน 4 ราย ทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องกับแพกุ้ง สมุทรสาคร และที่พบเพิ่ม 1 ราย ในวันที่ 21 ธันวาคม เป็นลูกจ้างทำงานที่แพกุ้ง สมุทรสาคร พักอาศัยในเขตบางขุนเทียน อีกรายรักษาตัวอยู่ใน รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. อยู่ระหว่างสอบสวนโรค ส่วนผู้ป่วยรายแรก ที่ประชาชื่น เขตบางซื่อ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 51 ราย ตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ให้กักตัวดูอาการ 14 วัน ผู้ป่วยรายที่ 2 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย ตรวจแล้วผลยังไม่ออก ส่วนผู้ป่วยรายที่ 3 และรายที่ 4 อยู่ระหว่างติดตามสอบสวนโรค 

          +++ การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 2 ในประเทศ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และทราบว่า “สาธารณสุข” ได้เตรียมมาตรการความพร้อมเอาไว้ ไม่ว่าจะเรื่องการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยรัฐบาลขอดูสถานการณ์อีก 7 วัน (นับจาก 21 ธ.ค.63) ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่ก็หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง “ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะไปประเมิน 7 วันว่าต้องทำอย่างไรต่อ ควรแค่ไหนอย่างไร ในเรื่องของมาตรการ” …รอลุ้นกันไปอีก 7 วัน ซึ่งครบกำหนดวันจันทร์หน้าคือวันที่ 28 ธันวาคม 2563 หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น และพบผู้ติดเชื่อเพิ่มที่นั่นที่นี่ มีหวังได้ “ล็อกดาวน์”กันอีก ส่วนจะเป็นรายจังหวัด หรือทั้งประเทศ ต้องรอลุ้น...
    

          +++ จากเรื่องโควิด-19 หันไปดูการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และ สมาชิก อบจ. ซึ่งความสนใจพุ่งไปที่ “นายก อบจ.” และมีทั้งคนที่สมหวัง-ผิดหวังเกิดขึ้น ...ความน่าผิดหวังคงไปตกหนักที่ “คณะก้าวหน้า” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง นายก อบจ. 42 จังหวัด ครบทุกภาค หวังล้ม “บ้านใหญ่-ตระกูลการเมือง” แต่ผลคะแนนกลับไม่เป็นอย่างที่ “ใจนึก” เพราะไม่สามารถ “ปักธง” ได้แม้แต่จังหวัดเดียว 

          +++ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 1.พะเยา 2.แพร่ 3.อุตรดิตถ์ 4.พิษณุโลก 5.ตาก 6.กำแพง 7.พิจิตร 8.เพชรบูรณ์ ภาคกลาง 1.นครสวรรค์ 2.ลพบุรี 3.สระบุรี 4.สิงห์บุรี 5.อ่างทอง 6.พระนครศรีอยุธยา ปริมณฑล 1.นนทบุรี 2.นครปฐม 3.สมุทรสงคราม 4.สมุทรสาคร 5.สมุทรปราการ ภาคตะวันตก ราชบุรี ภาคตะวันออก 1.ปราจีนบุรี 2.ฉะเชิงเทรา 3.ระยอง 4.ชลบุรี ภาคอีสาน 1.หนองบัว 2.หนองคาย 3.อุดรธานี 4.บึงกาฬ 5.สกลนคร 6.นครพนม 7.มุกดาหาร 8.ร้อยเอ็ด 9.ยโสธร 10.อำนาจเจริญ 11.อุบลราชธานี 12.สุรินทร์ และ 14.นครราชสีมา และ ภาคใต้ 1.สุราษฎร์ธานี 2.นครศรีธรรมราช 3.พงังา 4.ภูเก็ต 5.นราธิวาส …แต่ก็มีบ้างที่ผู้สมัคร ส.อบจ.ของคณะก้าวหน้า สามารถฝ่าคู่แข่งได้ 

          +++ ก่อนหน้านี้ ธนาธร เคยประกาศในวันเปิดตัวผู้สมัคร นายก อบจ. เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 ถึงเป้าหมายการล้มบ้านใหญ่ว่า “จุดแข็งของคณะก้าวหน้า คิดว่าคนเห็นแล้วว่า ท้องถิ่นโยงบ้านใหญ่ การเมือง ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เอาภาษีประชาชนไปเป็นสมบัติส่วนตัว ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลง ยุติการซื้อเสียง ยุติบ้านใหญ่ ยุติผู้มีอิทธิพล” …แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า “บ้านใหญ่” ส่วนใหญ่ยังเหนียวแน่นสามารถ “รักษาแชมป์” ไว้ได้ ความพ่ายแพ้ใน “สนามเลือกตั้งท้องถิ่น” ครั้งนี้ ของ “คณะก้าวหน้า” ถือเป็นการ “ดับอหังการ” ของ “ธนาธร” ที่คิดผิด และได้รู้ผลแล้วว่า “สนามท้องถิ่น” ไม่ง่าย-ไม่หมู เหมือนสนามเลือกตั้งระดับชาติที่สามารถใช้ “โซเชียล-คนรุ่นใหม่” เข้ามาเป็นตัวช่วยในการรณรงค์หาเสียงได้ ขณะที่ระดับท้องถิ่น ยังติดและยือถืออยู่ที่ “ระบบอุปถัมภ์” เป็นสำคัญ

 

          +++ จาก “คณะก้าวหน้า” หันไปดู “พรรคเพื่อไทย” ของ ทักษิณ ชินวัตร แม้จะดีใจกับชัยชนะในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ แต่เมื่อส่องลงไปดูผลคะแนนของผู้สมัครนายก อบจ. สังกัดพรรคใน 25 จังหวัด ก็ถือได้ว่า “แบรนด์ทักษิณ” หรือ “แบรนด์เพื่อไทย” เริ่ม “ไม่ขลัง” เนื่องจากมีผู้สมัครนายก อบจ.ของค่าย ได้รับเลือกตั้งเพียง 8 จังหวัด โดยเฉพาะภาคกลาง เพื่อไทยพ่ายเรียบ เสียหายมาก เหตุเพราะมี ส.ส.เพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ไปร่วมมือกับ “พลังประชารัฐ” จัดทีมล้มคนของพรรค ในหลายจังหวัด


          +++ โพกัสไปที่ ภาคเหนือ เพื่อไทย ชนะ 6 จังหวัด พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เชียงใหม่, อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ลำพูน , นพรัตน์ ถาวงศ์ น่าน, ตวงรัตน์ โล่สุนทร ลำปาง และ อนุวัธ วงศ์วรรณ แพร่ แต่ต้องผิดหวังที่เชียงราย เมื่อ “ยิ้ม-วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์” อดีต ส.ส.เชียงราย ลูกสะใภ้ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พ่ายแพ้แก่ “สจ.นก” อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ทั้งที่ทักษิณฝากฝังให้ ยงยุทธ ติยะไพรัช ดูแลวิสาระดีเต็มที่ แต่ก็เอาชนะตระกูล “วันไชยธนวงศ์” ไม่ได้ ส่วนสนามภาคกลาง “เพื่อไทย” ส่งชิงนายก อบจ. 9 จังหวัด ก็พ่ายแพ้เรียบ ไล่ไปตั้งแต่ พล.ต.เทียมศักดิ์ สุขานุยุทธ สุพรรณบุรี, เกรียงไกร กิ่งทอง ระยอง, สิทธิชัย กิตติธเนศวร นครนายก, เกียรติกร พากเพียรศิลป์ ปราจีนบุรี, วินัย วิจิตรโสภณ นครปฐม, ธนวุฒิ โมทย์วารีศรี สมุทรสงคราม, เชาวรินทร์ ชาญสายชล สมุทรสาคร, วิชิต ปลั่งศรีสกุล ประจวบคีรีขันธ์ และ สุรสาล ผาสุก สิงห์บุรี 

          +++ สำหรับ ภาคอีสาน ที่เป็นฐานที่มั่นของเพื่อไทย ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 10 จังหวัด เหลือรอดเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียร ขาวขำ อุดรธานี, กานต์ กัลป์ตินันท์ อุบลราชธานี และวิเชียร สมวงษ์ ยโสธร ส่วน 7 จังหวัดที่พ่ายแพ้ได้แก่ สุชีพ เศวตกมล ชัยภูมิ, ศรีเมือง เจริญศิริ มหาสารคาม, ธนพล ไลละวิทย์มงคล หนองคาย, วิชัย สามิตร หนองบัวลำภู, เฉลิมขวัญ หล่อตระกูล กาฬสินธุ์, สมชอบ นิติพจน์ นครพนม และพ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ มุกดาหาร ... “แบรนด์ทักษิณ” เสื่อมไม่เสื่อมก็ดูเอาเถิด...