บ้านเมืองมืดมิดจริงหนอ! เศรษฐีหลุดคดีสินบนทั้งหมด

24 ธ.ค. 2563 | 04:42 น.

บ้านเมืองมืดมิดจริงหนอ! เศรษฐีหลุดคดีสินบนทั้งหมด : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3638 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 24-26 ธ.ค.2563 โดย... พรานบุญ

 

          ข้าราชการป้องปากตะโกนก้อง ออกมาจากศูนย์ราชการดังลั่น....บ้านนี้เมืองนี้มืดจริงหนอ... คุกมีไว้ขังหมา ขังแมว....คนรวยเงินตรา บารมีรอดทุกราย...

          บ้างก็ส่งเสียงดังลั่นว่า คนจนทำอะไรก็เกะกะ…เรามันจน เราต้องทนต่อไป ใครจะรวยเท่าใด ก็ปล่อยให้รวยเสียให้เข็ด!

          พรานฯ ผู้ท่องไพรในป่าคอนกรีตต้องส่ง อีกา นกกระจิบ กระจาบ พิราบตัวน้อย ยันเจ้าจ๋อลิง ค่าง บ่าง ชะนี และอีเห็น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอดส่องไปด้อมๆมองๆเพื่อหาสาเหตุแห่งความอึดอัดของบรรดาข้าราชการสีขาว สีกากีว่า ไฉนจึงร้องกันดังอึงมี่...ไปทั้งปฐพีที่วิเวกวิโหวงเหวง

          พอได้ข้อมูลมา พรานเฒ่าผู้กร้านโลกอย่างผมแทบตกเก้าอี้!

          เมื่อมีสายรายงานว่า คดีจ่ายสินบนอันอื้ออึง ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด 1.นาวาโทสาธิต ชินวรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค นครศรีธรรมราช 2.นายคณิน เมืองด้วง อดีตรองนายกเทศมนตรีตำบลท้องเนียน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช 3.นายอภิชาติ สวัสดิรัตน์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 ต.ท้องเนียน และ 4.พ.ต.ท.สันติพงษ์ พันธ์สวัสดิ์ สารวัตรสถานีตำรวจน้ำ 4 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจน้ำ ในความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด และฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 157 ประกอบมาตรา 86

          นอกจากนี้ ยังมีมติให้ฟ้องเอกชนผู้สนับสนุน 3 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ 3.นายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ ในความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 157 ประกอบมาตรา 86

          ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 7 คน ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันเรียกรับเงินสินบน 20 ล้านบาท จากบริษัท มิตซูบิชิ ฮิตาชิ พาวเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด หรือ MHPS เพื่อแลกกับการอนุญาตให้ใช้ท่าเทียบเรือชั่วคราวบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อลำเลียงขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยมิชอบ และส่งสำนวนพร้อมรายงานความเห็นให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณาเพื่อสั่งฟ้องต่อศาลไปตั้งแต่ปลายปี 2562 แต่คดีสินบนอันลือลั่นสนั่นเมือง ส่อแววพลิกแล้วครับนายท่าน...

          คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล และส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด (อสส.) พิจารณา ต่อมามีตั้งคณะทำงานร่วมพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในสำสวนระหว่างฝ่ายอัยการ และฝ่าย ป.ป.ช. แต่ท้ายที่สุดปรากฏว่าไม้บรรทัดหักงอ เพราะคณะทำงานร่วมไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน แปลว่า คดีสินบน 20 ล้าน มีการหักกันกลางทางระหว่างจะไปศาล...หุหุ

          ฝ่ายอัยการเห็นว่า ควรสั่งฟ้องเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนรวม 5 ราย 1 ในนั้นคือ นายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ซิโน-ไทยฯ 

          แต่อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ ฐานสนับสนุน และได้ส่งคำสั่งอย่างเป็นทางการมายัง ป.ป.ช.เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา...พอความแตกแบบนี้ ก็อื้ออึงสิครับ

          คดีนี้ในชั้นการสอบสวนของ ป.ป.ช.ที่คณะกรรมการมีมติชี้มูลความผิดนั้นระบุว่า “ข้อเท็จจริงพบว่า เมื่อปี 2556 บริษัทร่วมค้าระหว่าง MHPS กับบริษัท ซิโน-ไทยฯได้รับว่าจ้างให้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่ อ.ขนอม ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม บริษัทในกลุ่ม EGCO Group ผู้ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

          ทั้งนี้ บริษัท ซิโน-ไทยฯ และ นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายราเกส กาเลีย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการเรียกรับสินบนจากบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น โดยจัดทำสัญญาที่ไม่มีการจ้างงานจริง โดยให้บริษัท ซิโน-ไทยฯ จัดเตรียมสินบนเป็นเงินสด 20 ล้านบาท 

 

          ต่อมา...มีการมอบเงินสินบนให้กับผู้แทนบริษัทญี่ปุ่นที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ซิโน-ไทยฯ เพื่อให้ขนเงินไปยังพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้ง 4 ราย ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในช่วงเวลาเดียวกันเรือลำเลียงก็สามารถเทียบท่าและขนถ่ายชิ้นส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ณ ท่าเทียบเรือชั่วคราวโรงไฟฟ้าขนอมได้ แม้ว่าจะไม่มีการแก้ไขเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือให้ถูกต้องตามระเบียบของกรมเจ้าท่าแม้แต่น้อย

          นี่จึงเป็นที่มาของความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สินบน ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

          ทว่าภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด วันเดียวกัน บริษัท ซิโน-ไทยฯ ลงนามโดยนายภาคภูมิ ศรีชำนิ มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ทุกรูปแบบ และมั่นใจว่าสามารถชี้แจงแสดงหลักฐานโต้แย้งการถูกกล่าวหาได้ และบริษัทฯขอยืนยันจะสู้จนถึงที่สุด 

          เมื่ออัยการสูงสุดเห็นว่า ควรสั่งฟ้อง 5 รายที่รับสินบน และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการบริษัท ชิโน-ไทย แต่ไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซิโน-ไทยฯ...บ้านเมืองก็ปั่นป่วนมืดมิสิพี่น้อง

          ดุลยพินิจแบบนี้แหละครับที่ทำให้ต้นธารแห่งความยุติธรรมบิดเบี้ยว แทนที่จะส่งคดีไปให้ศาลเป็นผู้ตัดสินกลับมีกระบวนการตัดตอนการตัดสินของศาลเข้ามาแทรกอยู่ตรงกลาง... เธอและฉันก็ต้องเดินกันคนละทางแหงๆ อัยการ-ป.ป.ช.เอ๋ย

          แถมการตัดสินใจแบบนี้ทำให้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกนและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 123/5 ที่ระบุว่า “ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการหรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

          ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ

          บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทนบริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอํานาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม” ไร้ความหมายไปโดยปริยาย

          นังบ่างซักไซร้ไล่เลียง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะทำอิหยังต่อไปละท่านประธานฯ ท่านบอกว่า ป.ป.ช.มีเวลา 90 วันในการพิจารณาเรื่องนี้ ในเบื้องต้น ป.ป.ช. อยู่ระหว่างพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคำสั่งของ อสส. ว่าเป็นอย่างไร มีเหตุผลอะไรถึงไม่สั่งฟ้องบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ ฐานสนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว หลังจากนี้จะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่าจะมีมติอย่างไร

          คดีสินบนพิลึกพิลั่นที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องบริษัทเอกชนแบบนี้มีทางออกมีแค่ทางเดียวเท่านั้น และต้องทำให้เป็นบรรทัดฐานคือ ป.ป.ช. ต้องดึงสำนวนคดีดังกล่าวกลับมา เพื่อดำเนินการฟ้องคดีเองทั้งหมด ในส่วนของบริษัท ซิโน-ไทยฯ และนายภาคภูมิ เพราะเป็นการกระทำที่มีความเชื่อมโยงกัน หากฟ้องเพียงบางคนจะทำให้เป็นจุดอ่อนของสำนวน และกลายเป็นการตัดทอนผู้ร่วมกระบวนการจ่ายสินบนตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

          เห็นวิธีการพิจารณาคดีสินบนของอัยการสูงสุดในกรณีบริษัท ซิโน-ไทยกันจะๆ แบบนี้แล้วพี่น้องคนไทยจะมาคาดหวังกับคดี นายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริษัท เรียลแอสเสท ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด น้องชายของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าที่ติดบ่วงกรรมจากคดีการให้สินบนเจ้าหน้าที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 20 ล้านบาท 
 

           คดีดังกล่าว นายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ ผู้ต้องหาที่ 1 นายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช ผู้ต้องหาที่ 2 ถูกตั้งข้อกล่าวหา ร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอก สารราชการปลอม และร่วมกันเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจ หรือได้จูงใจเจ้าพนักงานโดยทุจริต โดยนายนายประสิทธิ์ และนายสุรกิจ ได้ร่วมกันปลอมหนังสือราชการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 ฉบับ แล้วนำไปแสดงต่อนายสกุลธร ว่าสำนักทรัพย์สินฯมีที่ดินจะให้เช่าเพื่อทำธุจกิจ 2 แปลง ในซอยร่วมฤดี และในเขตสำนักงานใหญ่องค์การโทรศัพท์ชิดลม

          นายสกุลธร สนใจจึงตกลงว่าจ้าง นายสุรกิจ ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้แทนดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ในวงเงินสัญญาจ้าง 500 ล้าน บาท เพื่อให้นายสุรกิจให้ติดต่อนายอิศรา โดยอ้างว่านำไปจ่ายค่าจ้างดำเนินการเพี่อ “ล็อคผู้ใหญ่” โดยมีการจ่ายเงินงวดแรกเมื่อเดือนม.ค. 2560 จำนวน 5 ล้านบาท โดยให้นายประสิทธิ์ นำไปให้เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินทำเอกสารปลอมและส่งให้นายสุรกิจนำไปให้นายสกุลธร เพื่อยืนยันว่าผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติที่จะเป็นผู้เช่าที่ดิน

          “กระทั่งเมื่อวันที่ 5 พย.2560 นายสกุลธร ได้จ่ายเงินให้อีก 5 ล้านบาท และมีการนัดทำสัญญาโดยระบุว่านายสกุลธรได้สิทธิเช่าที่ดินทั้ง 2 แปลง และขอให้เร่งดำเนินการ พร้อมกับออกเอกสารเชิญบริษัทฯให้เข้าร่วมประชุม จึงทำให้นายสกุลธร จ่ายเงินให้ผู้ต้องหาที่ 2 อีก 10 ล้านบาท รวมจ่าย 3 ครั้งจ่ายไป 20 ล้านบาท แต่เมื่อถึงวันนัดหมายได้มีการยกเลิกการประชุม นายสกุลธร จึงได้ทวงเงินคืน โดยผู้ต้องหาได้คืนเงินให้ไป 7 ล้านบาท”

          คดีดังกล่าวศาลมีคำสั่งจำคุกผู้ต้องหาคนที่ 1 ,2 คนละ 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือ 3 ปี ไปเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562

          ข้อเท็จจริงในคดีนี้ จึงมีผู้ต้องหา 2 คนที่เกี่ยวข้องกับนายสกุลธร โดยอัยการได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองในความผิดฐานเรียกรับสินบน แต่นายสกุลธรผู้จ่ายสินบนไปแล้ว 20 ล้านบาท และสัญญาจะจ่ายเพื่อให้ได้งาน 500 ล้านบาท ไม่เป็นผู้ต้องหาในคดีจ่ายสินบน พอเรื่องแดงฉาวโฉ่ขึ้นมาพนักงานสอบสวนก็ได้ตั้งสำนวนอีก 1 คดี และกำลังดำเนินการสอบสวนพฤติการณ์ของนายสกุลธรมีความผิดฐานให้สินบนหรือไม่...ท่านคิดอย่างไร..หลุด ไม่หลุด ฟ้อง ไม่ฟ้อง...หึหึ

          พรานฯ นำคดีจ่ายสินบนของ “ซิโน-ไทย-จึงรุ่งเรืองกิจ” มาเปรียบเทียบกัน แต่จ่ายเงินไปแล้วเท่ากันคือ 20 ล้านบาทเหมือนกันให้พิจารณา...ส่วนคดีจะเป็นเช่นไร อยู่ที่ใครจะทำงาน... 

          แต่พรานฯว่า...บ้านเมืองนี้มืดมิดจริงหนอ!