อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า" ที่ระดับ 30.32 บาท/ดอลลาร์

23 ธ.ค. 2563 | 00:35 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นทยอยอ่อนค่าตามตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง แต่สภาพคล่องในตลาดไม่สูงมากส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไรและการปรับสถานะ


อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.23 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.10-30.30 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นทยอยอ่อนค่าตามภาพตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง แต่สภาพคล่องในตลาดไม่ได้สูงมากและส่วนใหญ่เป็นการเก็งกำไรและการปรับสถานะเนื่องจากเงินบาทปรับตัวขึ้นลงเร็ว โดยในวันนี้ เชื่อว่าจะเคลื่อนไหวให้กรอบแคบก่อนการประกาศผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงบ่าย

ขณะที่ช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินผันผวนด้วยข่าวดีจากนโยบายประคองเศรษฐกิจ แต่ก็มีข่าวร้ายเรื่องการระบาดของไวรัสและการปิดการเดินทางทั่วโลกอยู่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นดังกล่าวกดดันให้ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวลง 0.2% และราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงลง 2.2% ส่วนดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.5% 

 

ฝั่งตลาดเงินก็เป็นภาพการแข็งค่าของดอลลาร์ติดต่อกันเป็นวันที่สาม 0.5% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยมีแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเห็นได้จากการอ่อนค่าลงของทองคำ 0.8% ขณะที่ล่าสุดดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ (U.S. Dec. Conf. Board Consumer Confidence) กลับลดลงมาที่ 88.6จุด จากที่คาดไว้ 97.0จุด ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลง 2bps มาที่ระดับ 0.92%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเช้านี้ (23 ธ.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.21 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดยังรอติดตามผลการประชุม กนง. และสถานการณ์โควิดในประเทศ รวมไปถึงสัญญาณความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากที่ปธน. โดนัลด์ ทรัมป์เรียกร้องให้สภาคองเกรสทบทวนรายละเอียดของบางมาตรการอีกครั้ง

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.00-30.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องติดตามสัญญาณการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ผลการประชุมกนง. และข้อมูลการส่งออกเดือนพ.ย.ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ และรายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล และอัตราเงินเฟ้อ Core PCE Price Index เดือนพ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธ.ค.