ครม.เคาะหลักการแก้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ สงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายต้องแจ้งพนักงานควบคุมโรค

22 ธ.ค. 2563 | 09:51 น.

ครม.อนุมัติหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้อำนาจผู้ว่าฯออกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรคได้ กำหนดให้ผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย ต้องแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไม่แจ้งถือว่า มีความผิดต้องรับโทษตามที่กม.กำหนด

22 ธันวาคม 2563 นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้มาตรการทางกฎหมายมีความเหมาะสมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกักหรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหลังจากครม.อนุมัติหลักการแล้วจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมมีดังนี้คือ

 

1.กำหนดให้อธิบดีกรมควบคุมโรคมีอำนาจประกาศท้องที่หรือเมืองท่านอกราชอาณาจักรที่พบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อหรือโรคระบาดเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินอย่างยิ่งเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อไม่ให้แพร่เข้ามาในราชอาณาจักร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เคาะแล้ว! กรอบเงินเฟ้อปี 64 ที่ 1-3% 

ครม.เขย่ากระทรวงคลัง เด้ง "ภูมิศักดิ์" นั่งรองปลัดฯ 

"เพชรบูรณ์" พบเจ้าหน้าที่ติดโควิด 2 ราย มีประวัติ เดินทางมาตลาดมหาชัย

เปิดไทม์ไลน์ "อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร." ติดเชื้อโควิด

 

2.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การได้มา เข้าถึง การเก็บรักษา การนำไปใช้ การกำกับดูแล หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ของผู้ที่เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ผู้ที่เป็นผู้สัมผัสโรคหรือผู้ที่เป็นพาหะ

3.กำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีอำนาจกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่กักกัน หรือ แยกกักโรค และมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขซึ่งมีอำนาจดำเนินการในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข หรือในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น และแพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง

 

4.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจสั่งการหรือมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในพื้นที่ของตน รวมทั้งมีอำนาจสั่งการผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค

 

5.กำหนดเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะทำงานประจำช่องทางเข้าออกให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

6.ในกรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น กำหนดให้ผู้ที่พบว่า ตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคดังกล่าวมีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

 

7.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ใดทำกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโรค รวมทั้งมีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่ใดๆ ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค

 

8.กำหนดให้ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด  หรือกรณีที่โรคได้แพร่อย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งให้ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดดำเนินการ หรือละเว้นการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน  และควบคุมโรคติดต่อได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม 

 

9.กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามคำสั่ง หรือข้อกำหนดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้