ชง ขสมก.โละรถเมล์เก่าดีเซล เป็นพลังงานไฟฟ้า บัสอีวี

22 ธ.ค. 2563 | 07:35 น.

นักวิชาการ และกรมควบคุมมลพิษ ร่วมเสวนาเพื่อลดปัญหามลพิษ โดยศูนย์วิจัย MOVE มจธ. เร่งภาครัฐบังคับใช้รถยนต์มาตรฐานไอเสียยูโร 5 และ ยูโร 6 พร้อมเสนอเปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. เป็นรถบัสไฟฟ้า อีวี

ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ชงเเก้ฝุ่น PM2.5 ในงานเสวนา ความเป็นไปได้การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ เเละ ยานยนต์มาตรฐานยูโร 6 เเทนการใช้เครื่องยนต์ดีเซล พร้อมเสนอ ทางออก สู่ลมหายใจไร้ฝุ่น และหนึ่งในนั้นคือ การเสนอให้เปลี่ยนรถโดยสาร ขสมก. เป็น บัสอีวี  

รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน และหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center เปิดเผยว่า  หนึ่งในเเนวทางการเเก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครเเละปริมณฑลคือการกำหนดมาตรฐานไอเสีย ที่ปัจจุบันประเทศไทย ยังกำหนด มาตรฐานไอเสียยูโร 4 สำหรับยานยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เเละยูโร 3 สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ เเละมีเเผนจะปรับค่ามาตรฐานเป็น ยูโร5 เเละ ยูโร6 ปรับมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้นกว่าปัจจุบัน โดยใช้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 5 เเละ ยูโร 6 ซึ่งจะมีความเข้มงวดมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ รวมไปถึงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันผสมอยู่ไม่เกิน 10 ส่วนในล้านส่วน

อีกเเนวทางหนึ่งคือ การเปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลมาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จากภาคขนส่งทางถนน เป็นต้น 

รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล

การเดินทางที่ยั่งยืน (Sustainable Mobility)” หมายถึง การเดินทางและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยไม่สร้างปัญหาต่อคนรุ่นหลัง และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีหลักการของการเดินทางเเละขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือ การลด (Avoid/Reduce) ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ Work From Home ที่หน่วยงานหลายแห่งเริ่มให้พนักงานทำงานที่บ้านได้เพื่อลดการเดินทาง ส่งผลให้ระบบการทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น (System Efficiency) 2. การปรับเปลี่ยน (Shift) การเดินทางโดยหันมาใช้การเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะซึ่งเป็นการเดินทางร่วมกันส่งผลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทั้งในเชิงของการประหยัดพลังงานและการระบายมลพิษทางอากาศ หรือที่เราเรียกว่าการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ (Travel Efficiency) และ 3. การพัฒนา (Improve) ยานยนต์ให้ใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Vehicle Efficiency)

นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมที่จะนำไปสู่ทางออกร่วมกัน เริ่มที่ ภาครัฐ จะต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้กำหนดนโยบาย เเก้ไขกฎระเบียบ เเละร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งต้องเป็นผู้นำในการริเริ่มโครงการต่างๆ จากปัญหา PM2.5 ภาครัฐ ควรดำเนินการเร่งด่วนในการประกาศการบังคับใช้มาตรการระบาดมลพิษทางอากาศจากยานยนต์ใหม่ เป็นระดับยูโร 5 เเละ 6 ภายในปี 64 เเละ 65 อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยภาครัฐต้องเริ่มก่อน เช่น รถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. (บัสอีวี)

ส่วน ภาควิชาการ มีบทบาทสำคัญในการวิจัย เเละพัฒนาเทคโนโลยี เเละพัฒนาบุคลากรของประเทศ ภาคเอกชน ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์เเละบริการที่ใช้งานได้จริง เเละราคาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม 

สุดท้ายคือ ภาคประชาชน ต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการเดินทางในวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การเดินทางที่ยั่งยืน  สู่ลมหายใจไร้ฝุ่น “Move forward for the better breath”

ดร. พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศเเละเสียง  กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ มีมาตรการในการตรวจจับรถยนต์ เเละรถโดยสารสาธารณะที่ปล่อยมลพิษหรือควันดำบนท้องถนน เกินค่ามาตรฐานอย่างจริงจังมากขึ้นในขณะนี้ เราทราบดีว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กค่อนข้างสูง ทำให้กระทบต่อสุขภาพประชาชนในการใช้ชีวิตประจำวัน เเละประชาชนก็อยู่ในภาวะวิตกกังวลกับคุณภาพชีวิต ซึ่งภาครัฐไม่นิ่งนอนใจในปัญหาดังกล่าวเเต่อย่างใด