อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า"

21 ธ.ค. 2563 | 23:43 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากการปิดรับความเสี่ยง


อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.06 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.05-30.25 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจากการปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี เราไม่พบแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติมากนะ และส่วนใหญ่เป็นการซื้อปิดสถานะขาย (short) ที่มีอยู่ในสัปดาห์ก่อน เชื่อว่าประเด็นนี้จะยังกดดันตลาดไปอีกสักระยะ แต่จะไม่ทำให้เงินบาทกลับทิศไปอ่อนค่า และผู้ส่งออกส่วนใหญ่รอขายอยู่เหนือระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์
 

สำหรับตลาดการเงินอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) ในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐปรับตัวลง 0.4% โดยมีดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวลงมากที่สุด 2.3% จากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ประเด็นดังกล่าวกดดันให้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลง 2.7% ขณะที่ดัชนีวัดความกลัว (VIX Index) ปรับตัวขึ้นแต่ระดับ 25จุด สูงที่สุดในรอบเดือน

ฝั่งตลาดเงินประเด็นที่เด่นที่สุดคือเงินปอนด์อ่อนค่าลง 0.9%  จากข่าวการกลายพันธุ์ของไวรัส และโดยเฉลี่ยดอลลาร์ฟื้นตัว 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ขณะที่บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีปรับตัวลดลงเพียง 1bps มาที่ระดับ 0.94% ชี้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ได้กังวลมาก เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาพคล่องที่อยู่ในระดับสูง และความหวังว่าทางการสหรัฐจะผ่านมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในสัปดาห์นี้

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 30.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (22 ธ.ค.) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 30.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ แต่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะหนุนเงินดอลลาร์ฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.00-30.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยต้องติดตามสัญญาณการระบาดของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 (final) และยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญระหว่างสัปดาห์น่าจะอยู่ที่ผลการประชุมกนง. (23 ธ.ค.) และ ข้อมูลการส่งออกเดือนพ.ย.ของไทย