สปสช.เคาะค่าฟอกไตผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเป็นไม่เกิน4,000 บาทต่อครั้ง 

21 ธ.ค. 2563 | 23:31 น.

"บอร์ด สปสช." เห็นชอบปรับเกณฑ์จ่ายชดเชยหน่วยไตเทียมเพิ่ม ขยายบริการสู่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งงบประมาณ 20.75 ล้านบาท รองรับค่าฟอกไตไม่เกินครั้งละ 4,000 บาท

 

สปสช.เคาะค่าฟอกไตผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีเป็นไม่เกิน4,000 บาทต่อครั้ง 
 

จากการที่ๆประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ขยายบริการฟอกเลือดเพื่อล้างไตในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอ ซึ่งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ที่เข้ายื่นหนังสือต่อนายอนุทินให้มีมาตรการส่งเสริมให้หน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (หน่วยไตเทียม) จัดบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ฟอกไต) ให้กับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทองที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคติดเชื้ออื่น โดยไม่เลือกปฏิบัติ  

 

9 ธ.ค.ลุ้นบอร์ด สปสช.เคาะค่าฟอกไตผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

 

ซึ่งที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเบื้องต้นเตรียมงบประมาณทั้งสิ้น 20.75 ล้านบาท รองรับค่าบริการล้างไตสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่เกินครั้งละ 4,000 บาท และให้กำหนดเงื่อนไขการเข้ารับบริการในกลุ่มเป้าหมายนี้

 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น พบว่าที่ผ่านมาหน่วยไตเทียมมักจะเรียกเก็บเงินจากผู้เข้ารับบริการประมาณ 2,500 - 3,500 บาทต่อครั้ง เพิ่มเติมจากที่ได้เรียกเก็บจาก สปสช. จำนวน 1,500 บาทต่อครั้ง รวมเป็น 4,000 - 5,500 บาท เนื่องจากต้องเปลี่ยนตัวกรองทุกครั้งที่ให้บริการ ส่งผลต่อต้นทุนการให้บริการ ซึ่งมติบอร์ด สปสช.ในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มเข้าถึงการรับบริการของผู้ป่วยไตวายที่ติดเชื้อเอชไอวีได้มากยิ่งขึ้น

 

“หลักการสำคัญของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือการดูแลประชาชนทุกกลุ่มให้เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ซึ่งกรณีของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่ผ่านมามีปัญหาในการเข้าถึงบริการจากค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการฟอกไตที่ต้องจ่ายเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในการเข้ารับบริการ ดังนั้นเพื่อความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. จึงได้เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และหลักการโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว