ส่อง “5 ธุรกิจดาวรุ่ง”ในเมียนมาหลังโควิด ค้าปลีกออนไลน์มาแรงสุด

21 ธ.ค. 2563 | 04:57 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งในเมียนมาหลังโควิด พบอย่างน้อย 5 ธุรกิจจะมาแรงในปีหน้า

ส่อง “5 ธุรกิจดาวรุ่ง”ในเมียนมาหลังโควิด ค้าปลีกออนไลน์มาแรงสุด

 

“Asia Foundation” ได้เปิดผลการสำรวจผลกระทบของโควิดต่อธุรกิจในเมียนมา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 พบว่าโควิดรอบครั้งที่สองของเมียนมากระทบเศรษฐกิจเมียนมามากกว่ารอบที่หนึ่ง (โควิดรอบที่สองเริ่มเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2563 ในรัฐยะไข่ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศบังคลาเทศ โควิดรอบแรกพบผู้ติดโควิดเมื่อวันที่ 23 มี.ค.2563) ผลการสำรวจพบว่าธุรกิจมีการปิดตัวเพิ่มขึ้นจาก 28% เป็น 36% ของธุรกิจทั้งหมดในเมียนมา หลังจากนี้ธุรกิจในเมียนมาเป็นอย่างไร

 

ผมได้วิเคราะห์ว่าในปี 2021 สถานการณ์โควิดค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ การทำธุรกิจในเมียนมาจะเปลี่ยนไป  ธุรกิจไทยที่กำลังอยู่ในเมียนมาหรือที่สนใจจะเข้าไปทำธุรกิจ จะปรับตัวอย่างไร ธุรกิจไหนจะจะมาแรง หรือ “ธุรกิจดาวรุ่ง” มีอะไรบ้างผมพบว่า

 

1.ธุรกิจการค้าปลีกออนไลน์ หรือพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือธุรกิจที่ไปเกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์จะได้รับความสนใจอย่างรวดเร็วกว่ามากยิ่งขึ้น ก่อนโควิดธุรกิจการค้าแบบพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในตลาดเมียนมาอยู่แล้ว แต่หลังโควิดจะมีอัตรการขยายตัว “โตแบบก้าวกระโดด” เพราะพฤติกรรมการทั้งคนซื้อและคนขายจะเปลี่ยนไป

 

นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมามีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาประเทศเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลตาม ”Digital Economy Road Map 2018-2025” ที่ประกอบด้วย “4D” คือ “Digital Transformation, Digital Government, Digital Trade และ Digital Society” เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ในประเทศ CLMV ด้วยกันแล้วพบว่าประเทศเมียนมามีมูลค่าพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์เป็นอันดับที่ 2 รองจากเวียดนาม แต่มูลค่ายังสูงกว่าประเทศกัมพูชาและ สปป.ลาว  ตามลำดับ

ส่อง “5 ธุรกิจดาวรุ่ง”ในเมียนมาหลังโควิด ค้าปลีกออนไลน์มาแรงสุด

 

โดยในปี 2019 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของเมียนมา เท่ากับ 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มอย่างรวดเร็วจากปี 2018 ที่มีมูลค่าเพียง 6 พันล้านดอลลาร์ และในปี 2023 คาดว่าจะก้าวกระโดดเป็น 23 พันล้านดอลลาร์ (Euromonitor International) (แต่ผมคิดว่าน่าจะโตกว่านี้) ด้วยจำนวนประชากรเมียนมาปี 2020  มีจำนวน 54 ล้านคน มีใช้อินเตอร์เนตและโซเชียลมีเดียมากถึง 22 ล้านคน (ส่วนทางกับ U Mike Than Tun Win ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท “Travel Portal Flymya” มองว่าคนเมียนมาใช้อินเตอร์เนต 30 ล้านคน และความเร็วอินเตอร์เนตเร็วกว่าไทย) มีคนใช้มือถือ 68 ล้านเครื่อง และจะมีคนใช้อินเตอร์เนตและโซเซียลเพิ่มขึ้นปีละ 1-1.5 ล้านคน (อัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เมียนมาหรือ Mobile Penetration Rate เกิน 100% นั้นหมายความว่า คน 100 คนมีโทรศัพท์เกิน 1 เครื่อง) นั้นแสดงว่าการทำมาค้าขายในเมียนมาจะผ่านทางออนไลน์ มากขึ้น

 

แพลตฟอร์มในเมียนมามีทั้งหมด 22 แพลตฟอร์ม แยกออกเป็น 2 แบบคือ “E-Commerce” และ “Cross Border E-Commerce” แต่แพลตฟอร์มที่ดังๆ ได้แก่ “shop.com.mm” (B2C) ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกินร้อยละ 50 เจ้าของคือ “Alibaba Group” จากจีนที่ซี้อมาจากบริษัทเยอรมัน Rocket Internet ที่ให้บริการให้ศรีลังกา บังคลาเทศ และปากีสถาน แพลตฟอร์ม “shop.com.mm” มีคนเข้ามาดูวันละ 3 แสนคน ส่วนแพลตฟอร์มอื่น ๆ คนเข้ามาดูต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน (Lazada ในไทยคนเข้ามาดูวันละ 3 ล้านคน) ส่วนใหญ่เป็นการขายปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้าและนาฬิกา เป็นต้น รองลงมาเป็นแพลตฟอร์ม “Rgo47” (Royal Golden Owls) (B2C) เป็นของนักธุรกิจเมียนมาโดยขายผ่าน “Facebook” เพราะคนเมียนมาเกิน 50% ใช้ FB มากที่สุด สินค้าส่วนใหญ่ของ Rgo47 คือสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่น ส่วนที่เป็นการค้าแบบบ “B2B” คือ Baganmart.com ที่ขายเครื่องจักร อุปกรณ์ตบแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้นก็เป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าที่มาขายสินค้าออนไลน์หลักคือ “CityMall” ส่วนแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารอันดับหนึ่งคือ “Viber” (สัดส่วน 50%) ตามด้วย “Line และ Wechat”

 

ธุรกิจที่สองที่น่าสนใจคือ ธุรกิจที่ปรึกษาออนไลน์ ได้แก่ การอบรมออนไลน์ สัมมนาออนไลน์ หลักสูตรออนไลน์ อุปกรณ์เครื่องมือไอที และการทำอินโฟกราฟิก (infographic) เพราะด้วยความต้องการค้าขายบนออนไลน์ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะได้รับความนิยมตามไปด้วย “ธุรกิจอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง” ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป เมียนมามีเป้าหมายจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยหลายโครงการจำนวน 129 โครงการใหญ่ มูลค่าโครงการทั้งหมดหลายแสนล้านเหรียญ  เช่น โครงการก่อสร้างและปรับปรุงสนามบินและท่าเรือหลายแห่ง เช่น สนามบินเฮโฮ (Heho) ในรัฐฉาน และสนามบินเกาะสอง พัฒนาท่าเรือ เป็นต้น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างจะมีโอกาสสูงมากในการค้าขายในอนาคต

 

ส่อง “5 ธุรกิจดาวรุ่ง”ในเมียนมาหลังโควิด ค้าปลีกออนไลน์มาแรงสุด

 

นอกจากนี้หลังโควิดผู้บริโภคเมียนมาจะหันมาให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพมากขึ้น ธุรกิจอาหารสุขภาพ จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจหลังโควิด ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เป็น 1 ใน 3 กลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเมียนมานิยมแบรนด์จากต่างประเทศ (เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในครัวเรือนและอาหารสุขภาพ) สอดคล้องกับการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคล่าสุดของ “Deloitte's Myanmar Consumer Survey (2019)” ที่พบว่าคนเมียนมาให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพมากขึ้นเห็นได้จากการเปลี่ยนมาดื่มน้ำเปล่ามากกว่าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมน้ำตาล และหันมาออกกำลังกาย แต่สิ่งที่ผู้บริโภคเมียนมากังวลสำหรับอาหารสุขภาพคือ วันหมดอายุ วัตถุดิบที่ใช้และคุณค่าทางอาหาร

 

นอกจากนี้หลังโควิดกลุ่ม "ธุรกิจอุปกรณ์และเครื่องมือด้านสุขภาพ และเครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ” ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่มีอนาคตเช่นกัน เพราะผู้บริโภคจะหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงคือผลของโควิดก็ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในเมียนมาหดหาย ซึ่งอาจต้องอาศัยเวลาพอสมควรที่ทำให้รายได้กลับมาเหมือนเดิม

 

ส่อง “5 ธุรกิจดาวรุ่ง”ในเมียนมาหลังโควิด ค้าปลีกออนไลน์มาแรงสุด