16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

20 ธ.ค. 2563 | 11:33 น.

รายงานพิเศษ : 16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

"กระจอก" ความหมายจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า ไม่สำคัญ เล็กน้อย เช่น เรื่องกระจอก ต่ำต้อย เช่น คนกระจอก 

 

แต่ทว่า คำว่า "กระจอก"  กลายเป็นวาทกรรม ที่มีนักการเมืองบิ๊กเนมอย่างน้อย 2 คน ในประเทศไทย คือ "นายทักษิณ ชินวัตร" ตั้งแต่ปี 2547 สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ผ่านไป 16 ปี จนมาถึงปี 2563 คือ "นายอนุทิน ชาญวีรกูล" ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 

 

ให้สัมภาษณ์นักข่าวโดยใช้คำว่า "กระจอก" เหมือนกัน ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานของประเทศที่ต้องการมุมมองความคิดเห็นในการแก้ไขสถานการณ์นั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โลกโซเชียลแห่ไล่ "อนุทิน" พ้นสธ. แฮชแท็ก #ถอดถอนอนุทิน อื้ออึงทวิตเตอร์  

"เพื่อไทย"ได้ทีงัด“โควิดกระจอก”ถล่ม“อนุทิน”ใช้แต่ปากทำงาน

นั่งไม่ติด “อนุทิน” นัดถกด่วนรับมือโควิดระบาดสมุทรสาคร

เปิดรายละเอียด "ล็อกดาวน์ -เคอร์ฟิว" สมุทรสาคร ติดเชื้อโควิดพุ่ง 548 ราย

“กทม.” ขอความร่วมมืองดจัดเทศกาลปีใหม่ หลังพบติดเชื้อโควิด 2 ราย

"ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน ไม่มีผู้ก่อการร้ายอุดมการณ์ มีแต่โจรกระจอก”

คือท่อนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของ นายทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์เมื่อ 4 มกราคม 2547 ในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย มีการเผาโรงเรียน 18 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายปิเหล็ง ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย  และได้อาวุธปืนไปกว่า 314 กระบอก 

 

ทักษิณ ชินวัตร แสดงอาการไม่พอใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับตำหนิกองทัพ ทหารที่ไม่ระมัดระวัง และถึงกับพูดว่า "ถ้าคุณมีกองทหารทั้งกองพันอยู่ที่นั้น แต่คุณก็ยังไม่ระวังตัว ถ้าอย่างนั้นก็สมควรตาย”

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาชนในพื้นที่และคนไทยทั้งประเทศต้องการผู้นำประเทศมีแนวทางแก้ปัญหา แต่กลับกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" จากวาทกรรม "โจรกระจอก" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยมีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่ ประชาชน ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก รัฐบาลต้องตั้งรัฐบาลส่วนหน้า คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการดูแลพื้นที่ 

 

ตั้งจัดสรรงบประมาณเฉพาะ รวมทั้งใช้กฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต่ออายุประกาศทุกๆ 3 เดือนมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

ล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63  คณะรัฐมนตรี เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น อำเภอแม่ลาน อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโกลก อำเภอสุคิริน อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2564

16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลพบว่าในรอบ 16 ปี กับการปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 313,792.4 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้ 

- ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท

- ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท

- ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท

- ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท

- ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท

- ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท

- ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท

- ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท

- ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท

- ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท

- ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท

- ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท

- ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท

- ปี 2560 - 12,692 ล้านบาท

- ปี 2561 - 13,255.7 ล้านบาท

- ปี 2562 - 12,025.3 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ) 

- ปี 2563 - 10,865.5 ล้านบาท (เฉพาะงบแผนงานบูรณาการฯ)

ส่วน "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แม่ทัพใหญ่ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ไม่รู้หลุดปาก หรือ ตั้งใจ ใช้คำว่า "กระจอก" กับโรคร้ายโควิด-19 ที่ปั่นป่วนกันไปทั้งโลกเพราะยังไม่มีวัคซีนรักษา

 

“เพราะเวลานี้ความพร้อมของเรามีเต็มที่ อย่างไรก็สามารถควบคุมได้ อีก 6 เดือนก็มีวัคซีนออกมา จึงขอให้มั่นใจไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด เพราะโควิดกระจอก ถ้าเราเข้าใจและมีอาวุธพร้อม สามารถรับมือได้”

 

นั่นคือท่อนหนึ่งของคำสัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2563 เวลา 08.45 น. ที่สนามหลวง ท่ามกลางสถานการณ์ช่วงนั้นคือ พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวันที่ลักลอบข้ามชายแดนจังหวัดเชียงรายเข้ามาในประเทศไทย 

 

คำว่า "โควิดกระจอก" ในวันนั้นของนายอนุทิน กลายเป็นวาทกรรมที่ถูกพูดถึงอย่างมาก รวมท้ั้งในวงการสาธารณสุขเอง โดยเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ภายหลังตรวจพบผู้ติดโควิด-19 รอบใหม่ จำนวน 548 คน ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร กระทั่งผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ประกาศล็อกดาวน์ทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563

16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

ต่อมาคืนวันเดียวกัน นายอนุทิน ได้โพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพที่ถ่ายร่วมกับทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข พร้อมข้อความว่า "สาสุขพร้อมครับ จะทำทุกอย่างให้ทุกคนปลอดภัย Comrades. Let’s roll. Time for another fight" โดยมีผู้แชร์โพสต์ดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก 

 

หนึ่งในนั้น คือ นพ.ชญานนท์ บุญธีระเลิศ ที่แชร์โพสต์ของนายอนุทิน พร้อมเขียนข้อความว่า "Covid โรคกระจอก โถ จะทำทุกอย่างให้ทุกคนปลอดภัย"

 

ปรากฏว่า นายอนุทิน ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ในเฟซบุ๊กของ นพ.ชญานนท์ ว่า "เห็นหน้าคนโพสต์เลยเข้าใจแล้วว่าหมาไม่เข้าใจคนอ่ะ" และยังคอมเมนต์ต่ออีกว่า "อยู่ รพ.พะเยาเหรอ เดี๋ยวไปหา มารอรับน้า" 

 

และต่อจากนั้นก็มีการโต้ตอบกันไปมาในเฟซบุ๊ก ซึ่งทำให้มีคนเข้ามาต่อว่าและวิพากษ์วิจารณ์นายอนุทินเป็นจำนวนมากว่า ไม่มีวุฒิภาวะ และที่บอกว่าจะไปหานั้นเป็นการข่มขู่หรือไม่

16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

16 ปี บทเรียนประเทศไทย "ภาวะผู้นำ" กับคำว่า "กระจอก"

กระทั่งวันที่ 20 ธ.ค. 2563 โลกโซเชียลมีเดียรวมพลังติดแฮชแท็ก #ถอดถอนอนุทิน จนติด เทรนด์ทวิตเตอร์ เรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลาออกจากตำแหน่ง อีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการแสดงความไม่พอใจที่นายอนุทินเคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า โควิด-19 เป็นโรคกระจอก

 

เพราะอย่าลืมว่า ถ้า "โควิดกระจอก" รัฐบาลเอง คงไม่ต้องใช้เงินนอกงบประมาณ ด้วยการออก พ.ร.ก.เงินกู้ วงเงินมากมายรวมกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อแบก ประคอง และแก้ไขสถานการณ์โควิดรอบนี้ในทุกมิติ

 

ฉะนั้นวันนี้ ทั้งสองสถานการณ์คำว่า "กระจอก" ที่บริบทของสถานการณ์ใหญ๋ที่ห่างกัน 16 ปี บอกอะไรกับภาวะผู้นำของประเทศไทย ว่าอย่าบังอาจดูถูกดูเบาสถานการณ์ใดใด ไม่เช่นนั้นวลีหรือวาทกรรมนั้นจะย้อนมาถามและทิ่มแทงคนพูดว่า

 

ใครกันแน่ที่ "กระจอก"