8ล้านคนรับโชคภาษี ปั๊มลูกลดหย่อนได้คนละ 3 หมื่น/รัฐสูญ 3.2 หมื่นล้าน

20 เม.ย. 2559 | 23:00 น.
ครม.เคาะโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคล รายได้ตํ่ากว่า 2.6 หมื่นไม่ต้องเสียภาษี รัฐยอมเฉือนปีละ 3.2 หมื่นล้าน คง 7 ขั้นอัตราภาษีสูงสุดที่ 35% คนกลุ่มรายได้ 4-5 ล้านบาท/ปี ได้อานิสงส์ฐานภาษีลด 5% ขณะที่คนรายได้ตํ่า-กลาง ไม่น้อยหน้า ให้หักเหมาจ่ายถึง 1 แสน-บุตรได้ไม่อั้นจำนวน คนละ 3 หมื่น “อภิศักดิ์” ลั่นยังคงแวต 7%ต่อ 2-3 ปี นักวิชาการชี้ไม่แรงพอกระตุ้นคนมีลูกเพิ่ม

[caption id="attachment_46273" align="aligncenter" width="700"] โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20เมษายน 2559 ว่าครม.ได้เห็นชอบเรื่อง การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กระทรวงการคลังเสนอ กล่าวคือ

 เอื้อรายได้กลุ่ม4-5ล้าน/ปี

1.ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยที่ยังคงไว้ 7 ขั้นในอัตราเพดานจัดเก็บภาษีสูงสุดที่ 35 % เท่าปัจจุบัน แต่ปรับฐานรายได้ภาษีในขั้นที่ 6 และ 7 กล่าวคือ ในขั้นที่ 6 ปัจจุบันกำหนดว่ารายได้สุทธิต่อปีตั้งแต่ 2,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 30 % ของใหม่ปรับปรุงเป็นรายได้สุทธิต่อปีที่ 2,000,001-5,000,000 เสียภาษีในอัตรา 30 % , ส่วนรายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไปฐานภาษีขั้นที่ 7 เสียภาษีที่อัตราสูงสุด 35 % จากปัจจุบันกำหนดให้ 4,000,001 บาทขึ้นไปเสียที่ 35 % ส่วนฐานภาษีในขั้นที่ 1- 5 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ( อ่านตารางประกอบ )

อย่างไรก็ดี รัฐยังคงยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกยังคงสามารถใช้ต่อไปตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551

 เพิ่มหักค่าใช้จ่ายเป็น1 แสน

2.. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็น 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

3. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 40% ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ 50% ของเงินได้ดังกล่าวแต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

 ลดหย่อนบุตรไม่จำกัดจำนวน

4. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน ดังนี้

(1) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(2) ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(3) ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร (จากเดิมที่ให้หักลดหย่อน 2,000 บาท/คน)

(4) ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท

(5) กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(6) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

 ปรับเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องยื่นแบบ

5. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้

(1) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว

- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท

- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 200,000 บาท

(2) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน

- หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

- หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน 120,000 บาท

(3) กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

(4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

 บังคับใช้ปีภาษี 2560

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้จะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป โดยกระทรวงการคลังประเมินว่าผลการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดาใหม่ครั้งนี้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 32,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามกระทรวงคลังหวังว่ารายได้ที่สูญเสียดังกล่าว ในอนาคตจะไหลกลับเข้าสู่ถึงมือประชาชนและส่งผลทำให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้กระทรวงการคลังสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Vat ได้มากขึ้นตามไปด้วย พร้อมยืนยันว่าภายในช่วง 2-3 ปีนี้รัฐบาลจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จากปัจจุบันที่ยังใช้ในอัตราที่ 7 % (เพดานตามกฎหมายกำหนดที่ 10 %) อย่างแน่นอน

 ขุนคลังลั่นคงแวต 7%ต่อ2-3 ปี

" รัฐมองว่าในช่วง2-3 ปี เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นภายใน2-3 ปี อัตราภาษีแวตยังคงไว้ที่ 7 % " นายอภิศักดิ์ กล่าวและว่า สัดส่วนการจัดเก็บรายได้ในปีภาษี 2558 ที่ผ่านมา รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดเป็นสัดส่วน 17% ของภาษีรายได้ทั้งหมด, ภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 32%, ภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ที่ 41% ดังนั้นส่วนตัวจึงหวังว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มจากการปรับโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ และยังมีรายได้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะอีกสัดส่วน 3%, ภาษีปิโตรเลียม 5% และภาษีอากรแสตมป์สัดส่วน 2%

 เพื่อผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยยืนยันว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความช่วยเหลือให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไปจนถึงปานกลาง โดยผลประโยชน์จะอยู่ที่การเพิ่มในส่วนของค่าลดหย่อนภาษี จาก 30,000 เป็น 60,000 บาท , รวมถึงค่าลดหย่อนภาษีสำหรับคู่สมรสจาก 30,000 เป็น 60,000 บาท, ค่าลดหย่อนกรณีบุตร จากเดิมจำกัดที่ 3 คนและต่อคนที่ 15,000 บาท มาเป็นไม่จำกัดจำนวนราย และลดหย่อนได้ถึงคนละ 30,000 บาท

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่าจากข้อมูลการยื่นชำระภาษีในปี 2558 พบว่ามีการยื่นเข้ามาแล้ว 8.8 ล้านราย จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ยื่น 10.3 ล้านราย ทั้งนี้เป็นผู้ที่มีรายได้ 0-300,000 บาท จำนวน 7,000,000 กว่าราย หรือคิดเป็น 79.55 % ของจำนวนผู้ยื่นเข้ามา , ผู้ที่มีรายได้ 300,000-500,000 บาท มีจำนวน 800,000 ราย ( สัดส่วน 9.09%) ผู้ที่มีรายได้ 500,000 -1 ล้านบาท มีจำนวน 400,000 ราย ( สัดส่วน4.54%) และผู้ที่มีรายได้เกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวนเพียง 50,000 กว่าราย (สัดส่วน 0.57%) ซึ่งในนี้ผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไปมีจำนวนประมาณ 20,000 กว่ารายเท่านั้น ( 0.23 %) แม้จะเป็นจำนวนที่น้อยแต่วงเงินหรือจำนวนเงินรายได้ที่เสียภาษีถือว่ามีจำนวนสูงเลยทีเดียว

"จากประมาณการผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 0-300,000 บาทและผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 500,000 บาทเฉลี่ยร่วมกันสูงถึง 8 ล้านคนแล้ว ดังนั้นจึงยืนยันว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่นี้ ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือผู้ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางจะเป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด "

 รายได้ไม่ถึง 2.6 หมื่นไม่เสียภาษี

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้มีเงินได้โดยผู้เสียภาษีที่มีเฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาท

 คาดดันจีดีพีตามเป้า 3.5 %

บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า กรณีรัฐกระตุ้นการใช้จ่ายครัวเรือน ผ่านการลดภาษี + เพิ่มค่าลดหย่อน บุคคลธรรมดา ถือเป็นการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่องนั้น โดยรวมทําให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ควบคู่ไปกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (C) ซึ่งน่าจะช่วยหนุนให้จีดีพีในระยะต่อไป ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัสฯ ประเมินจีดีพีในปี2559 ไว้ที่ 3.5%

 ผลของมาตรการต้องใช้เวลา

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติฯ กล่าวให้ความเห็นว่า ข้อดีและข้อเสียของการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการลดภาระภาษี เพิ่มรายได้ในกระเป๋าของประชาชนทั่วไป โดยคาดหวังว่าเงินส่วนนี้ จะนำไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีมองว่าผลของมาตรการยังอีกนาน

ส่วนข้อเสียก็คือ รัฐน่าจะได้รายได้ภาษีจากส่วนนี้ลดลง จึงน่าจะต้องหาทางเพิ่มรายได้ทางอื่นด้วย ส่วนกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ ผู้มีเงินได้ในรูปเงินเดือนค่าจ้างทั้งระบบ โดยผู้มีเงินเดือนน้อย จะได้ประโยชน์ในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้มีเงินเดือน และฐานภาษีสูงๆ

ขณะที่มองว่า กรณีการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ว่า โครงสร้างภาษีดังกล่าวไม่มีผลในแง่ของเงื่อนไขการลงทุนเพื่อรับสิทธิลดหย่อน แต่ในภาพรวมผู้เสียภาษีจะมีภาระภาษีลดลง เนื่องจากหักค่าลดหย่อน และค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น อาจจะมีเงินลงทุนใน LTF และ RMF ปีนี้ในผู้มีฐานภาษีต่ำลงบ้างแต่ไม่มาก

 รายได้ปานกลางตีปีก

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุนอาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลปรับโครงสร้างอัตราภาษีบุคคลธรรมดา ทำให้ผู้ที่รายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือนไม่มีภาระภาษี จากเดิมที่ผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ต่อเดือนไม่มีภาระภาษีนั้น คาดว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF ) เนื่องจากกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางไม่ต้องหาช่องทางการลงทุนเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่ม

นอกจากนี้จากกรณีที่รัฐบาลมีมติขยายการถือครองกองทุนLTF จาก 5 ปีปฏิทินเป็น 7 ปีปฏิทิน คาดว่าจะลดความน่าสนใจต่อการลงทุนในกองทุนดังกล่าว ดังนั้นมอร์นิ่ง สตาร์ คาดว่าปี 2559 นี้จะมีเงินไหลเข้าลงทุนในกองทุนดังกล่าวลดลงประมาณ 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสิ้นไตรมาส 1/59 กองทุนLTF อุตสาหกรรม มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือเอยูเอ็ม ที่ 2.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.85% จากสิ้นปี 2558

 ไม่จูงใจคนอยากมีลูกเพิ่ม

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ( ทีดีอาร์ไอ ) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ ฯ โดยเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรจากเดิม 1.5 หมื่นบาทต่อคนเป็น 3 หมื่นบาทต่อคน และไม่จำกัดจำนวน ( จากปัจจุบันที่ได้ไม่เกิน 3 คน ) ว่า อาจช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายครอบครัวเพราะเป็นการเพิ่มค่าลดหย่อนต่อรายอีกเท่าตัว แต่ยังไม่แรงพอที่จะจูงใจหรือกระตุ้นให้คนอยากมีลูกเพิ่ม เพราะต้นทุนในการดูแลบุตรสูงมากกว่าอยู่แล้ว อีกทั้งโดยเฉลี่ยต่อครอบครัวก็มีบุตรไม่เกิน 2 คนอยู่แล้ว

" การที่สังคมไทยจะเข้าสู่ผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในไม่ช้านี้( มี 1 ใน 5 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ) ขณะที่ประชากรวัยแรงงานอาจสร้างไม่ทัน การที่รัฐจะส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น โดยใช้มาตรการทางภาษีด้วยวิธีนี้ ยังไม่ใช่ยาที่แรงพอ ที่จะกระตุ้นให้คนอยากมีลูกเพิ่ม เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆที่มีมาตรการอื่น ๆควบคู่ อาทิเงินช่วยเหลือบุตร ,การให้โอกาสผู้เป็นมารดา ได้ทำงานทัดเทียมเพศชาย โดยไม่มองว่าการมีบุตรเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การาน เป็นต้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,150 วันที่ 21 - 23 เมษายน พ.ศ. 2559