“สุริยะ” ร่วมหอการค้าเยอรมัน-ไทยแก้ PM2.5 ระยะยาว

20 ธ.ค. 2563 | 10:05 น.

“สุริยะ” ร่วมหอการค้าเยอรมัน-ไทยแก้ PM2.5 ระยะยาว หนุนกฎหมายอากาศสะอาดแก้มลภาวะระดับลงลึก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย ว่า เยอรมนีมีความสนใจที่จะร่วมมือกับไทยในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circu lar Economy) โดยมีความเห็นว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน  รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะช่วยให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็ง

และอยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน โดยทางหอการค้าเยอรมัน-ไทย ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวให้แก่กระทรวง เพื่อหาแนวทางดำเนินงานร่วมกันต่อไป ขณะเดียวกันยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ โดยสนับสนุนกฎหมายอากาศสะอาด (clean air act) ต้องมีการพิจารณาแก้ไขลงลึกถึงสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง และมีการนำมาตรการต่าง ๆ มาใช้อย่างจริงจัง
              ทั้งนี้  กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกอบอุตสาหกรรมตามกรอบแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) และเศรษฐกิจหมุนเวียน สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ประกอบกับขณะนี้เกิดปัญหามลภาวะทั่วโลก และในประเทศไทยมีปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้นหากภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยผลักดันจิตสำนึกส่วนนี้จะส่งผลดีในระยะยาว  พร้อมกันนี้อุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมจะได้รับการยอมรับจากทุกตลาดทั่วโลก เป็นผลดีต่อการทำธุรกิจระยะยาวเช่นเดียวกัน

“ประเด็นที่หอการค้าเยอรมนีหารือเป็นสิ่งที่กระทรวงให้ความสำคัญอยู่แล้ว  ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมก็มีแผนที่จะดำเนินงานในส่วนที่เป็นมาตรการระยะยาวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มีแผนปรับจากมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นการใช้มาตรฐานยูโร 5 และ 6 ในอนาคตอันใกล้นี้  พร้อมทั้งการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ "อีวี" (EV) ในอนาคต เป็นต้น โดยยอมรับว่าทุกการเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งต้นทุนแก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี จะเป็นผลดีต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว ซึ่งเราก็พยายามปรับไปตามความเหมาะสมของกระแสโลก”

นายอันเดร  ริชเตอร์  ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังมีปัญหาฝุ่นละอองซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ จึงเล็งเห็นว่าหากทั้ง 2 หน่วยงานมีความร่วมมือกัน เยอรมนีในฐานะประเทศที่มีความเชี่ยวชาญ  ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งมีบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว หากทางกระทรวงฯ ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการของเยอรมนีด้วย ก็จะส่งผลให้การลงทุน และการทำงานราบรื่น ซึ่งน่าจะช่วยกันแก้ปัญหาและมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลก ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

“ขณะนี้ทุกตลาดทั่วโลกมุ่งไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมรักษ์โลก แม้ต้นทุนในการปรับเปลี่ยนจะสูง  แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว ดังนั้นเราจะต้องเดินหน้าพัฒนาให้ทันกับกระแส โดยเยอรมันนี  มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอยู่แล้วและพร้อมให้การสนับสนุนไทยต่อไป”