เสพติดประกันรายได้ ฉุด ”เกษตร” ไทย ดิ่งเหว

19 ธ.ค. 2563 | 04:00 น.

นักวิชาการ ผวา "ประกันรายได้" ถ่วง เกษตรไทยล้าหลัง ขณะที่ เกษตรกรเสียงแตก “ชาวนา” อยากให้ดันวาระแห่งชาติคงอยู่ยาว “ชาวสวนยาง” แฉแผนเล่ห์กับดักพ่อค้าให้รัฐจ่ายบักโกรก ชี้ยังมีมากเกษตรกรตกขบวน

"โครงการประกันรายได้เกษตรกร” เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคาพืชผลให้กับเกษตรกร ในพืชเกษตร 5 ชนิด ซึ่งในปีที่ 1 (ปี 2562/2563) มีผลการดำเนินงานดังนี้ 1.ยางพารา เกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ 1,271,490 ราย จ่ายชดเชยไป 24,042.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.12 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ 2. ข้าว เกษตรกรที่มีสิทธิ์ 4.31 ล้านราย วงเงิน 20,940.84 ล้านบาท โอนแล้ว 1,102,250  ราย จำนวนเงิน 19,413.14 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.70 ของวงเงินที่ได้รับ

 

3.ปาล์มน้ำมัน จำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิ์กว่า 3 แสนราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท โอนแล้ว 378,473 ราย จำนวนเงิน 7,197.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.37 ของวงเงิน ซึ่งมีกำหนดจ่ายเงินงวดสุดท้าย ในวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และกำลังรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยส่วนต่างในปี 2 งวดที่ 1 เดือนมกราคม 2564

 

4.มันสำปะหลัง เกษตรกรที่มีสิทธิ์ 5.2 แสนราย วงเงิน 9,890.57 ล้านบาท โอนแล้ว 608,061 ราย จำนวนเงิน 7,608.82 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 76.93 ของวงเงินที่ได้รับ และ 5.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรที่มีสิทธิ์ 4.5 แสนราย วงเงิน 1,552.78 ล้านบาท โอนแล้ว 386,989 ราย จำนวนเงิน 1,031.01 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 66.40 ของวงเงินที่ได้รับ

 

 

เสพติดประกันรายได้ ฉุด ”เกษตร” ไทย ดิ่งเหว

 

ขึ้นปี 2 รัฐส่อจ่ายอ่วม

 

ล่าสุดพืชทุกตัวได้เข้าสู่โครงการประกันรายได้ปีที่ 2 (2563/ 2564) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการจ่ายชดเชยส่วนต่าง ยกเว้น ปาล์มน้ำมัน  โดยแต่ละชนิดจะยึดกำหนดวันที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิต ห้ามเปลี่ยน ซึ่งจะต่างจากโครงการประกันรายได้ปี 2552 ที่เกษตรกรมีการแจ้งเปลี่ยนวันเก็บเกี่ยวจนเกิดความวุ่นวายและต้องยกเลิกโครงการไป จากบทเรียนดังกล่าวทำให้มีการปรับรูปแบบใหม่จนในที่สุด “ประกันรายได้เกษตรกร” ในปีที่ 1 หรือปีแรกของรัฐบาลประยุทธ์ได้รับคะแนนไปเต็มๆ

 

เริ่มปีที่ 2 โครงการเริ่มสะดุด จากราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดมีการปรับตัวลดลงมา ทำให้รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องของบประมาณเพิ่มเติม บวกกับเสียงความไม่พอใจอื้ออึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจ่ายชดเชย ส่วนต่าง ทิศทางในอนาคตจะไปสู่จุดจบอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจความพึงพอใจของเกษตรกร และมุมมองของนักวิชาการ เกี่ยวกับ “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” หากจะมีในปีที่ 3 เพื่อเป็นการบ้านให้กับรัฐบาลปัจจุบันหรือรัฐบาลใหม่ ว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง ยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่

 

ชาวนาเชียร์ยาวไป

 

ในมุมมองของนายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ระบุว่า นโยบายประกันรายได้ชาวนาได้ประโยชน์มาก และมีความพอใจมาก อยากให้โครงการต่อเนื่องในระยะยาวโดยขอให้ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ว่ารัฐบาลไหนมาจะต้องเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง เพราะเป็นการคุ้มครองความเสี่ยงด้านราคา หากมีประกันรายได้ปี 3 อยากให้รัฐบรรจุเพิ่มข้าวชนิดพื้นนุ่ม อาทิ กข79, กข43 ในราคาประกันเท่ากับข้าวหอมปทุมธานีที่ตันละ 11,000 บาท

 

ส่วนนายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย  และนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า “การประกันรายได้” ไม่ตอบโจทย์ เพราะพ่อค้าต้องกดราคาเกษตรกร แล้วให้รัฐบาลจ่าย ยังมีเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงโครงการนี้ ดังนั้นสิ่งที่ชาวสวนอยากได้มากกว่าคือ ทำให้ยางมีราคาที่ดี

 

กับดักเกษตรกรไม่พัฒนา

รศ.สมพร อิศวิลานนท์

 

ด้านมุมมองของนักวิชาการ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นโยบายประกันรายได้ 5 พืช ใช้งบในแต่ละปีกว่าแสนล้านบาท(ชดเชยส่วนต่าง+โครงการคู่ขนานในแต่ละพืช) ส่วนตัวเดาว่ารัฐบาลคงหยุดไม่ได้ทันที แต่จะต้องมีโครงการที่จะออกมาควบคู่เพื่อให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยน เพราะวันนี้รัฐบาล ยังย่ำอยู่กับที่ แบบให้เงินกินเปล่าไม่ได้สอนให้ชาวบ้านเรียนรู้ เปรียบเหมือนไม่ได้สอนให้ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะจับปลา แต่เป็นการนำปลาไปแจกตลอดเวลา โครงการนี้ไม่สามารถที่จะทำได้แบบยั่งยืน จะต้องหาทางเปลี่ยนผ่านไปให้ได้

 

“ยากมาก เป็นเกมการเมืองไปแล้ว แล้วเป็นกับดัก กลายเป็นแช่แข็งเกษตรกร จะไม่มีทางปรับเปลี่ยนไปสู่ความคิดใหม่ ยกตัวอย่าง ข้าวเปลือกเจ้า มีการประกันรายได้ที่ 1 หมื่นบาทต่อตัน ราคาตลาดที่เกษตรกรขายได้แค่กว่า 7,000 บาทต่อตัน จะต้องจ่ายส่วนต่างตลอดเวลาหรือ ในขณะเดียวกันพืชอื่นๆ เช่น ผลไม้ ที่มีความต้องการสูง แต่เกษตรกรในกลุ่มนี้ก็มีความคิดเดิม ขาดแรงจูงใจไม่มี “ประกันรายได้” ทำให้ พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในพืชนั้น ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่พืชชนิดอื่นที่อาจจะได้ราคาดีกว่า ตลาดต้องการมากกว่า เช่น มาเลเซีย เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากปลูกยางพาราเป็นทุเรียนแทน เป็นต้น  ในส่วนของไทยแม้ขาดทุนก็ปลูก เพราะรัฐมีเงินอุดหนุนช่วย และยังอุดหนุนการส่งออกด้วย เพราะรัฐจ่ายชดเชยส่วนต่าง ขณะที่ราคาในตลาดโลกไม่ได้สูง ในอนาคตภาคการเกษตรของไทยจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ เพราะพึ่งตนเองไม่ได้”

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) กล่าวถึง จุดอ่อนโครงการประกันรายได้ ที่เห็นได้ชัดคือ เกษตรกรจะแตกครัวเรือนเพื่อรับเงินชดเชย อาทิ มีอยู่ 50 ไร่ แตกเป็น 3 ครัวเรือน เป็นต้น กลายเป็นปัญหาใหญ่สู่ภาระการจ่ายเงินงบประมาณของรัฐที่เพิ่มขึ้น นี่คือจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 

 

 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,636 หน้า 9 วันที่ 17 - 19 ธันวาคม 2563