คมนาคม ผุด 2 แนวคิด ปรับแบบด่วนขั้น3 N1

18 ธ.ค. 2563 | 21:00 น.

                “คมนาคม” ปิ๊งไอเดียดันแนวคิดโดมครอบ-อุโมงค์ทางลอด ลุยปรับแบบ N1 เตรียมชง คจร.เดินหน้าช่วง N2 ธ.ค.นี้ หวั่นกทพ.แบกภาระดอกเบี้ยTFF ราว 1 พันล้านต่อปี

 

 

 

                โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ หากก่อสร้าง ช่วง N2 ตั้งแต่แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิ่งไปชนถนนวงแหวนรอบนอก เพียงช่วงเดียวมองว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจอีกทั้งไม่สามารถระบายการจราจรได้เต็มรูปแบบ หากไม่ก่อสร้างช่วง N1

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ช่วงทดแทน N1 และ N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ว่า ปัจจุบันการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ. ) เตรียมเสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อขอเปลี่ยนแปลงมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ดำเนินโครงการN1และN2 โดยส่วนของN2ที่ไม่มีปัญหาจะดำเนินการไปก่อน ส่วน N1 จะขอใช้รูปแบบดำเนินการโครงการเป็นตอนๆ ในส่วนที่ไม่มีปัญหาไปก่อน ขณะเดียวกันกทพ.ก็จะเจรจากับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าในส่วนที่จะผ่าน มก. จะสามารถดำเนินการในรูปแบบใดได้บ้าง โดยยึดหลักประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด รัฐประหยัดงบประมาณและไม่มีผลกระทบกับใคร

              

คมนาคม ผุด 2 แนวคิด  ปรับแบบด่วนขั้น3 N1

 

  “ขณะนี้ กทพ.มีภาระดอกเบี้ยจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) 1,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าไม่ดำเนินการอะไรเลยจะมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สุดท้ายจะถูกดอกเบี้ยทบไปหมด ทำให้เงินกองทุนฯ หายไป”

                ขณะเดียวกันรูปแบบการดำเนินโครงการ ช่วงทดแทน N1 ที่ผ่านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ซึ่งมี 2 ทางเลือก คือ 1.ทำเป็นโดมครอบอยู่ด้านบนทางยกระดับ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ดีที่สุดแล้ว เพราะสามารถเชื่อมต่อกับ N2 ได้เลย และ2.สร้างอุโมงค์ทางลอด ซึ่งจะไม่มีผลกระทบข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือเสียง เป็นต้น หากสามารถลอดผ่านใต้พื้นที่ มก.ได้ก็ไม่ต้องเสียค่าเวนคืนที่ดิน แต่ถ้าผ่านไม่ได้ก็ให้ทำอุโมงค์ใต้อุโมงค์เดิมที่อยู่ด้านหน้ามก.ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร (กม.) จากแยกมก.ถึงแยกถนนงามวงศ์วาน ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 หมื่นล้านบาท ในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน เพราะต้องใช้พื้นที่ของเอกชนในการก่อสร้างจุดขึ้นลง ทั้งนี้การขอเปลี่ยนแปลงมติคจร.ดังกล่าวคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม คจร. ได้ในเดือนธันวาคมนี้

                รายงานข่าวจากกทพ. กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการฯ ช่วงทดแทน N2 ขณะนี้ได้ส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุง (อีไอเอ) เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว คาดผ่านความเห็นชอบจากสผ.ภายในปลายปี 2563 หรือ ต้นปี 2564 หลังจากนั้นจะเริ่มประกาศประกวดราคาภายในกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปลายปี 2564 ซึ่งใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 3 ปี เปิดให้บริการภายในปี 2567

               

 

 

“ช่วงทดแทน N1 จะต้องหาแนวทางใหม่ว่าสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง เบื้องต้นจะดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปสำรวจพื้นที่แนวทางใหม่ว่าเป็นอย่างไร และมีอุปสรรคอะไรอีกบ้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาสักระยะนึง เพราะพื้นที่บริเวณนั้นหนาแน่น ถ้าดำเนินการไปตอนนี้อาจจะกระทบบริเวณพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัยได้ หากรอให้ดำเนินการทั้ง 2 ช่วงพร้อมกันจะทำให้โครงการฯนี้ไม่เกิดขึ้น หากคจร.เห็นชอบ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะเดียวกันกทพ.ยืนยันความจำเป็นในการพัฒนาโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 เพื่อลดปริมาณการจราจรติดขัด ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายทางด่วนจากฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ”

ข่าวหน้า 7 ฉบับ 3637