‘บริษัทซอมบี้’ บุกขยี้ไทย ต้องช่วยแบบเจาะจงแล้วล่ะลุง

18 ธ.ค. 2563 | 10:10 น.

‘บริษัทซอมบี้’ บุกขยี้ไทย ต้องช่วยแบบเจาะจงแล้วล่ะลุง! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3637 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ธ.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

วันนี้ผมพาทุกท่านมาพิจารณาขีดความสามารถของบริษัทคนไทยที่กำลังตกอยู่ในภาวะ “ซอมบี้ ผีดิบ” คือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขีดความสามารถการทำรายได้ไม่พอที่จะจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งจะปรากฏให้เห็นว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นอีกมากมายหลังจากนี้
 

บริษัทผีดิบนี้จะเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ การจ้างงาน รายได้ของผู้คน รวมถึงปัญหาหนี้เสียของระบบเศรษฐกิจ
 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ  ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์อละคณะ ได้สำรวจวิเคราะห์ วิจัย เรื่องผลกระทบ COVID-19 ต่อ Zombie Firm นัยต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจไทย โดยได้โฟกัสลงไปในกลุ่มบริษัทที่ประสบปัญหาความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือ Zombie Firm ซึ่งนำไปสู่ปัญหาด้านประสิทธิภาพการผลิต การทำกำไร และการลงทุนที่น้อยกว่าควรจะเป็น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจที่ทำการค้าควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง
 

เพราะนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทำให้ธุรกิจในประเทศหลายกลุ่มพังพาบ รายได้ไม่พอจ่ายเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาตรการพักหนี้สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ลากยาวไปถึงสิ้นปี 2563 หากยังแก้ไขไม่ได้ให้ขยายออกไปถึงกลางปี 2564 แต่ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศจะเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว


เนื่องจากมาตรการผ่อนผันให้ลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท มีลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เข้าโครงการทั้งสิ้น 1.05 ล้านบัญชี ยอดหนี้ราว 1.35 ล้านล้านบาทเป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์ 9.5 แสนล้านบาท ลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 4 แสนล้านบาท จำนวน 7.8 แสนบัญชี ปัจจุบันธนาคารติดต่อพูดคุยกับลูกค้าได้แล้ว 94% ในจำนวนนี้ราว 50-60% สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ส่วนที่เหลือยังคงต้องการความช่วยเหลือต่อ
 

ในจำนวนนี้มีลูกหนี้ประมาณ 6% วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ 1.6 หมื่นบัญชี ยังไม่สามารถติดต่อได้  โทรหาไม่เจอ ปิดกิจการ หรือย้ายที่อยู่ สะท้อนภาพว่า ปริมาณหนี้เสียในระบบจะยังตามรังควาญผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยไม่รู้ว่าเป็นใครบ้าง
 

นี่จำกัดวงแคบแค่เอสเอ็มอีวงเงินกู้ขนาด 100 ล้านบาทเท่านั้น แล้วธุรกิจที่มีวงเงินกู้เกินกว่า 100 ล้านบาท แล้วตกอยู่ในภาวะรายได้ไม่พอจ่ายที่ยังไม่ปรากฏภาพให้เห็นจะมีจำนวนมากเท่าใด นับเป็นปมที่คนทำธุรกิจควรต้องติดตาม
 

ดร.กำพล และคณะ ได้นิยาม Zombie Firm ว่า เป็นบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) ตํ่ากว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี และเป็นบริษัทที่มีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป โดยใช้ฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ในช่วงปี 2005-2019 มาพิจารณาประกอบ พบว่าก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19 สัดส่วนของ Zombie Firm ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009-2019 โดยเพิ่มจากจาก 7.6% มาเป็น 9.1% ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2007 ที่มากถึง 9.0%
 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่รุนแรงของ COVID-19 ต่อภาคธุรกิจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2020 หดตัวมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ตัวเลขการปิดกิจการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ผลกระทบเหล่านี้ล้วนมีโอกาสทำให้สัดส่วนของ Zombie Firm ในภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะอันใกล้
 

ผมสกัดข้อมูลออกมาในแต่ละส่วนของการสำรวจพบหลายประเด็นที่สะท้อนถึงสัดส่วนบริษัทที่มีความเปราะบางในด้านความสามารถในการชำระหนี้ โดยสัดส่วนบริษัทที่ขาดความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งวัดจากอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยที่น้อยกว่า 1 เท่า จะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 43.7% ในปี 2020...น่ากลัวมั้ยครับ
 

แต่หลังการฟื้นตัวของยอดขายตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวม สัดส่วนของบริษัทที่เปราะบางเหล่านี้ จะมีแนวโน้มลดลงและกลับสู่ระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างช้าๆ
 

จากความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทที่ลดลงนั้น จะทำให้สัดส่วน Zombie Firm เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยในช่วงปี 2020-2022 โดยจะเพิ่มขึ้นเป็น 11% ในปี 2020 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึง 16% ในปี 2022 ซึ่งในระยะยาว หากบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถฟื้นคืนความสามารถการทำกำไรแต่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ยอมออกจากตลาด อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อประสิทธิภาพการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรของภาคธุรกิจไทย
 

เพราะนอกจากปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 จะส่งผลไปยังการปิดกิจการของภาคธุรกิจ การลดลงของการจ้างงานและชั่วโมงการทำงาน รวมถึงจะเกิดปัญหากระทบต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงแล้ว สัดส่วน Zombie Firm สะสมที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยังส่งผลกระทบภาคการผลิตในระยะต่อไปน่าจะเป็นอีกหนึ่งแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญแม้ผลกระทบจาก COVID-19 จะเริ่มทุเลาลง
 

ทั้งนี้ หลังจากวิกฤติ COVID-19 มีการคาดว่าสัดส่วน Zombie Firm จะเพิ่มสูงขึ้นในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจสายการบิน ยานยนต์ สิ่งทอ การโรงแรม และพลังงาน มีสัดส่วนสูงของกลุ่มที่มีรายได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ยเป็น 5 อันดับแรกในปี 2020 สาเหตุหลักมาจากผลกระทบที่รุนแรงจาก COVID-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมดังกล่าว โดยการฟื้นตัวน่าจะค่อยเป็นค่อยไป จากการมีวัคซีนใช้อย่างแพร่หลาย การฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศและราคาน้ำมัน


ประเด็นต่อมา หากมองตามขนาดสินทรัพย์แล้วนั้น ผู้สำรวจคาดว่าสัดส่วน Zombie Firm จะเพิ่มสูงขึ้นที่สุดถึง 30% ในปี 2021-2022 สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่สุด โดยเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนที่สูงถึง 25% อยู่แล้วในปี 2019 แนวโน้มแบบนี้แสดงให้เห็นว่า กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กซึ่งมีความเปราะบางอยู่ก่อนเกิดวิกฤติ จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนักจากโควิด และอาจจะเป็นกลุ่มที่ฟื้นความสามารถในการชำระหนี้ได้ช้าที่สุด ในระยะต่อไป
 

การสำรวจของ EIC พบว่าข้อแตกต่างหลักของกลุ่ม Zombie Firm เทียบกับ Non-Zombie Firm ตั้งแต่ปี 2005-2019 ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีอยู่ 5 ประการ ได้แก่ ขนาดสินทรัพย์ ระดับหนี้สิน อายุ ประเภทธุรกิจ และแหล่งที่ตั้ง
 

1. Zombie Firm มักจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดสินทรัพย์เล็กที่สุดและใหญ่ที่สุด โดยหากแบ่งกลุ่มบริษัทออกเป็น 5 กลุ่ม (quintiles) ตามขนาดสินทรัพย์แล้วนั้น สัดส่วนของ Zombie Firm ในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่สุด มีอยู่สูงที่สุดถึง 16.4% รองลงมาเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุดราว 10.5% ขณะที่สัดส่วน Zombie Firm ในบริษัทขนาดกลางมีอยู่ที่เฉลี่ย 5-7% เท่านั้น
 

การที่สัดส่วน Zombie Firm อยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทขนาดเล็กที่สุดสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางในด้านความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดเล็ก
 

ในทางกลับกันนั้นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดมีแนวโน้มเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อได้สูงกว่าบริษัทขนาดกลางรวมทั้งมีแนวโน้มได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าจากภาคการธนาคาร จึงเป็นสาเหตุให้บริษัทเหล่านั้นสามารถทนต่อภาวะขาดทุนต่อเนื่องและความสามารถในการชำระหนี้ถดถอยชั่วคราวได้ยาวนานกว่า
 

2. Zombie Firm มีสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์สูงกว่า Non-Zombie Firm อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ เกือบครึ่งหนึ่งของ Zombie Firm มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน ภาระหนี้สินที่สูงอย่างมีนัยของบริษัทเหล่านี้ย่อมตามมาด้วยภาระดอกเบี้ยที่สูง ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Interest Coverage Ratio) ที่ถดถอยเป็นเวลานานต่อเนื่อง
 

3) สัดส่วน Zombie Firm มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกลุ่มอายุของบริษัท โดยบริษัทที่ก่อตั้งมาเป็นเป็นเวลานานนั้นมักมีข้อได้เปรียบด้านการเข้าถึงสินเชื่อและการระดมทุนจากความสัมพันธ์ในระยะยาวกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ดังนั้น บริษัทเหล่านี้จึงสามารถเผชิญภาวะขาดทุนและปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ได้ยาวนาน เช่นเดียวกับบริษัทกลุ่มที่ถือสินทรัพย์ขนาดใหญ่
 

คำถามต่อมาคือธุรกิจที่มีรายได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ยติดต่อกันยาวนานนั้นเป็นกลุ่มไหนบ้าง จากการสำรวจ พบว่า 5 อันดับแรกที่มีสัดส่วนอยู่สูงที่สุดได้แก่ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ่งทอ การโรงแรม อุตสาหกรรมยานยนต์และสินค้าเกษตรกรรมซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับกลุ่มขนส่งทางอากาศ และเป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศอยู่ค่อนข้างมาก
 

การที่ธุรกิจเหล่านี้แสดงความเปราะบางในด้านความสามารถในการชำระหนี้จึงเป็นที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทย
 

ผู้ทำการสำรวจได้เสนอว่า การช่วยเหลือภาคธุรกิจไทยในระยะสั้น เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้มีความจำเป็นเพื่อควบคุมผลของแผลเป็นทางเศรษฐกิจ
 

มาตรการในระยะถัดไปควรมุ่งเน้นการจัดกลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือ สำหรับบริษัทที่ไม่สามารถแข่งขันได้ควรสร้างกระบวนการออกจากธุรกิจอย่างคล่องตัวและมีผลกระทบจำกัด
 

ขณะที่กลุ่มบริษัทที่ยังคงมีศักยภาพในการปรับตัว ควรได้รับความช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้บริบทของธุรกิจและเศรษฐกิจหลังการระบาด COVID-19
 

ข้อมูลของไทยพาณิชย์สอดรับกับการสำรวจของ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ที่ระบุว่า ในปี 2563 คาดว่า จะมีบริษัทที่มีอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio: ICR) ต่ำกว่า 1 เท่า ประมาณ 29.5% เพิ่มขึ้นจาก 26.5% ของปีก่อน ซึ่งเป็นการดู ICR เพียง 1 ปี แต่หากประเมินบริษัทที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันยาว 3 ปี คาดว่าภายในปีนี้ จะมีสัดส่วนสูงเป็น 14.1% เพิ่มขึ้นจาก 9.5% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และในปีหน้าจะขยับเพิ่มเป็น 25.5%...เรียกว่าพุ่งไม่หยุด
 

นับเป็นภาพสะท้อนความเปราะบางของบริษัทเอกชนที่ต่อเนื่องกันหลายปี จนอาจต้องการความช่วยเหลือมากเป็นพิเศษ เพราะในภาวะปกติมีสัดส่วนไม่ถึง 10% โดยเฉพาะใน 5 อันดับของประเภทธุรกิจดังกล่าวคือ 1.โรงแรมและร้านอาหาร ปีหน้าอาจจะมีบริษัท ICR ต่ำกว่า 1 เท่า 45% 2. เรียลเอสเตท 38% 3. มีเดียและเอนเตอร์เทนเม้น 37% 4. เครื่องสำอางค์ 31% 5. สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม 31%
 

เพราะในปีนี้โดยค่าเฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมมีรายได้จะลดลงกว่า 9% อาจมีบางอุตสาหกรรมรายได้จะลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย ขณะที่กลุ่มโรงแรมรายได้ลดลงมากถึง 20-30%ทำให้รายได้หายไปกว่า 40% กลุ่มโรงแรมจึงเปราะบางและมีโอกาสที่รายได้ไม่พอจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า 1 เท่าติดต่อกันอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้นมาตรการดูแลของกลุ่มโรงแรมอาจต้องแยกให้ชัดเจน
 

น่ากลัวมั้ยครับ!