สัญญาณเอ็นพีแอล แตะ 5 แสนล้าน

19 ธ.ค. 2563 | 07:45 น.

ทีเอ็มบีชี้ สัญญาณเอ็นพีแอลปีนี้ ไหลเพิ่ม 4.9 แสนล้านบาท ห่วงภาคบริการ ค้าส่งค้าปลีก และส่วนบุคคล ยังต้องการความช่วยเหลือ ค่ายกรุงไทยเผยห่วงลูกหนี้รายใหญ่ 5,000 ล้าน เสี่ยงตกชั้นเป็นหนี้เสีย

ภาพสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ตํ่าของกิจการไทยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากก่อนหน้าที่ ศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส ได้วิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทกว่า 200,000 รายพบว่า อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย(Interest Coverage Ratio: ICR) ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนว่า กิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนนั้น ลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่าในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม ดังนั้น กิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ตํ่ากว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า

 

ล่าสุดยังตอกยํ้าด้วยบทวิจัยของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ Economic Intelligence Center (EIC)ที่ระบุว่า ยังมีปัจจัยที่่ต้องระวังในปี 2564 คือ บริษัทที่ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยตํ่ากว่า 1 เท่า (ICR) มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 16% จากปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 9.1% ของบริษัทไทย ทำให้เกิดความกังวลว่าแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หลังหมดมาตร การพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร TMB Analytics เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2563 มียอด เอ็นพีแอล หรือ Stage3 อยู่ที่ 3.14% เพิ่มขึ้นจาก 3.09% ในไตรมาส 2 ส่วนหนี้ที่จับตาเป็นพิเศษหรือ เอ็นพีแอล Stage2 ลดลงอยู่ที่ 7.03% จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 7.49% และ หากแยกประเภทสินเชื่อจะเห็นว่า เอ็นพีแอลของ สินเชื่อธุรกิจ อยู่ที่ 3.24% เพิ่มขึ้นจาก 3.07% ในไตรมาส2 ขณะที่ Stage2 ลดลงจาก 7.65% มาอยู่ที่ 7.11% ส่วนสินเชื่อรายย่อย เอ็นพีแอลปรับลดลงอยู่ที่ 2.91%จากก่อนหน้าอยู่ที่ 3.12% สอดคล้องกับ Stage2 ที่ปรับลดเหลือ 6.74% จากก่อนหน้าอยู่ที่ 7.96% 

 

สัญญาณเอ็นพีแอล แตะ 5 แสนล้าน

“เอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อยที่ลดลง เพราะเมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกหนี้จะกลับสู่การจัดชั้นปกติคือ Stage1 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของธปท.ที่ผ่อนปรนชั่วคราว เรื่องการจัดชั้นลูกหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 ดังนั้น คุณภาพสินเชื่ออาจจะแย่ลง แต่ไม่แสดงผลทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อรวมทั้งระบบที่เติบโต 4.6% มียอดคงค้าง 14 ล้านล้านบาท นั้นมาจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่มีการชำระคืนหนี้แต่ไม่ได้หมายความมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มาก”

 

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาพรวมเอ็นพีแอลทั้งปีนี้คาดว่า จะไหลเพิ่มต่อไม่เกินระดับ 3.5% มูลหนี้ราว 4.9 แสนล้านบาทจากยอดสินเชื่อรวม 14 ล้านล้านบาท ซึ่งยังสามารถบริหารจัดการดูแลลูกหนี้ได้ แต่สินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ ที่เอ็นพีแอลปรับเพิ่มเป็น 3.88% จากเดิม 3.59% และค้าปลีกค้าส่งอยู่ที่ 6.12% จาก 5.70% จึงยังน่าเป็นห่วง หลักๆคาดว่า มาจากเอสเอ็มอี 

 

สัญญาณเอ็นพีแอล แตะ 5 แสนล้าน

ขณะที่คุณภาพหนี้สินเชื่อรายย่อยยังเป็นห่วงสินเชื่อส่วนบุคคล เพราะเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งดอกเบี้ยสูง แม้จะปรับลดลงก็ยังสูง และไม่มีหลักประกันในแง่ปรับโครงสร้างหนี้จะยากกว่าสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อ เพราะยังมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันส่วนที่เหลือ

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ลูกค้ารายใหญ่ที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท มีมูลค่าพอร์ตราว 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ธนาคารดูแลและคุยกับลูกค้าเป็นรายตัวอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมาได้เพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้าทั้งจากซอฟต์โลนของธนาคาร ออมสิน และธปท. นอกจากการยืดหนี้และพักชำระหนี้แล้ว ซึ่งจากการพิจารณาคุณภาพหนี้คาดว่า จะมีประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่มีความเสี่ยงที่จะไหลเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งในทางปฎิบัติ ก็ต้องหาทางช่วยประคองกันต่อไปความความเหมาะสม 

 

สัญญาณเอ็นพีแอล แตะ 5 แสนล้าน

สำหรับมาตรการช่วยเหลือจะขึ้นกับอุตสาหกรรม หากเป็นอุตสาหกรรท่องเที่ยว โรงแรม ส่งออก จะเป็นอุตสาหกรรมที่ลำบาก ต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่อง เพราะหากซัพพลายเชนสะดุด กลุ่มเหล่านี้ก็ต้องมีปัญหา แต่ศักยภาพในการกลับมาจ่ายหนี้ก็มีบ้าง แต่ต้องดูเป็นรายธุรกิจ เนื่องจากบางคนไม่ได้ทำท่องเที่ยว หรือโรงแรมอย่างเดียว ทำธุรกิจอื่นๆ ในเครือก็มีโอกาสกลับมาได้บ้าง แต่ธุรกิจที่พึ่งพารายได้หลักๆ จากกลุ่มเหล่านี้ก็ยังต้องช่วยเหลือย่างใกล้ชิด 

 

ดังนั้นโปรแกรมช่วยเหลือจะไม่เหมือนกับรอบแรกที่พักหนี้อัตโนมัติ แต่จะพิจารณาเป็นรายๆเช่น กลุ่มท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เป็นกลุ่มที่ยังมีประเด็น แต่ธนาคารก็พร้อมช่วยในการยืดหนี้ไปก่อน เพราะถ้าการท่องเที่ยวและการเดินทางกลับมา กลุ่มนี้จะมีศักยภาพและรายได้ในการหมุนเวียนกิจการต่อ 

“แบงก์พร้อมช่วยเหลือลูกค้า ถ้าลูกค้าผ่านวิกฤติ แบงก์ก็ผ่านวิกฤติ ลูกค้าแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือไม่เหมือนกันเรามีทีมงานที่คอยติดตามและให้ความช่วยเหลือตามเหมาะสมและตามกรอบที่ทำได้” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แบงก์เลิกอุ้มลูกหนี้ แหยงเอ็นพีแอลพุ่ง

ลูกหนี้เอ็นพีแอลเฮ แบงก์รัฐช่วยลดต้น-ลดดอก

ธปท.ประเมินสินเชื่อโต 5% เอ็นพีแอลขยับ มั่นใจแบงก์ตุนเงินทุนสำรองรับมือ

โควิด-19ดันเอ็นพีแอลพุ่ง9%

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,637 วันที่ 20 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563