ธรรมนูญครอบครัว กฎในบ้านที่ควรเข้าใจ (Advance)

17 ธ.ค. 2563 | 23:09 น.

จากบทความครั้งที่แล้ว ผู้เขียนเกริ่นนำถึงการจัดทำธรรมนูญครอบครัวไว้ ซึ่งเป็นตัวช่วยจัดการปัญหาความขัดแย้งให้กับครอบครัวที่ทำธุรกิจร่วมกัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการด้านการเงินแบบกงสี โดยสามารถจัดทำธรรมนูญครอบครัวได้ 2 รูปแบบ

 

1.ทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างครอบครัว ซึ่งถือเป็น Emotional Binding โดยจัดทำกันขึ้นมาเอง แต่การยอมรับในธรรมนูญครอบครัวประเภทนี้ อาจจะไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น อาจจะมีเพียงสมาชิกในครอบครัวรุ่นที่เป็นผู้จัดทำและรุ่นที่ 2 รองจากรุ่นแรกที่ยอมรับและปฏิบัติตามกฎในครอบครัวนั้น หลังจากนั้นทายาทรุ่นต่อไปอาจจะไม่ยอมรับ และปฏิบัติตามอีก

 

2.ให้ทางที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาช่วยจัดทำธรรมนูญครอบครัว ซึ่งถือเป็น Legal Binding การจัดทำธรรมนูญครอบครัวในลักษณะนี้ ที่ปรึกษาทางกฎหมายจะมีบทบาทช่วยวางขอบเขตของธรรมนูญครอบครัว และมีสารบัญกลางในการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งรูปแบบนี้จะเป็นธรรมนูญครอบครัวที่ใช้ปฏิบัติสืบต่อกันให้กับทายาทรุ่นต่อไป จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่างๆ ในภายหลัง

 

หัวข้อหลักๆ ที่ควรกำหนดนั้น สมาชิกทุกคนต้องช่วยกันเสนอแนวทาง โดยลงรายละเอียดปลีกย่อย เพื่อให้ครอบคลุมอย่างชัดเจน และรัดกุม เช่น

 

1.โครงสร้างภายในครอบครัว: ระบุจำนวนสมาชิกทั้งหมด จัดทำ Family Tree รวมทั้งกำหนดผู้นำของครอบครัว อีกทั้งต้องแยกส่วนโครงสร้างของครอบครัวกับธุรกิจครอบครัวออกจากกันให้ชัดเจน

 

2.แนวทางการดำเนินชีวิต กติกามารยาทในการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว: กำหนดกิจกรรมที่ทำร่วมกันภายในครอบครัว เช่น การรวมตัวกันในวันปีใหม่ วันตรุษจีน ฯลฯ อีกทั้งควรกำหนดข้อห้ามปฏิบัติ และบทลงโทษไว้ด้วย


3.การจัดสรรผลประโยชน์ สวัสดิการภายในครอบครัว: ระบุการจัดสรรรายได้ ค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่างๆ ที่ทางครอบครัวจะดูแลให้กับสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เงินเลี้ยงดู ค่าจัดงานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น

 

การจัดทำธรรมนูญครอบครัวให้ได้ผลที่ดีที่สุด และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกทุกคนภายในครอบครัวนั้น แนะนำให้จัดทริปพักผ่อน 3 วัน 2 คืน แล้วทุกคนในครอบครัวไปร่วมทำ workshop กัน โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ การร่วมกันกำหนดข้อตกลงเพื่อเป็นหลักในการบังคับใช้ ทั้งนี้ การไปพักผ่อนจะช่วยให้ทุกคนละลายพฤติกรรม ผ่อนคลาย มีเวลา และสามารถมองเห็นสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่ต้องกำหนดขึ้นมา ทุกคนสามารถแนะนำ โต้เถียง ปรึกษาหารือจนได้กรอบของธรรมนูญครอบครัวที่สมาชิกทุกคนยอมรับ และเห็นชอบร่วมกัน จากนั้นจึงนำมาใช้ปฏิบัติภายในครอบครัว หากพบว่าธรรมนูญดังกล่าว ยังขาดข้อกำหนดอะไร หรือไม่สามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง สามารถนำมาทบทวนแก้ไขได้ตลอด ดังนั้น จึงควรจะระบุตั้งแต่ในครั้งแรกว่า จะทำการทบทวนทุกปี หรือตามแต่สมาชิกจะกำหนด

 

เมื่อสมาชิกครอบครัวได้ช่วยกันเขียน “ธรรมนูญครอบครัว” ซึ่งเป็นการกำหนดกติกาภายในครอบครัวแล้ว ยังมีเครื่องมือที่ช่วยบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว การส่งต่อธุรกิจ และสร้างหลักประกันทางการเงินให้กับสมาชิกรุ่นหลัง แม้จะไม่สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่รองรับ แต่สามารถไปจัดตั้งในต่างประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ได้

 

เครื่องมือที่กล่าวถึงนี้ คือ การจัดตั้ง “กองทรัสต์” เพื่อใช้ในการ “แบ่งสรรผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกในครอบครัว” โดยทรัสต์มีองค์ประกอบ ดังนี้

 

1.ผู้ก่อตั้งทรัสต์ (Settlor) ซึ่งก็คือ เจ้าของทรัพย์สินที่มีความประสงค์จะส่งต่อทรัพย์สินของตนให้กับทายาท ซึ่งทรัพย์สินที่จะส่งมอบนั้น มีทั้งทรัพย์สินทางการเงิน หุ้นของบริษัทจำกัด รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ

 

2.ผู้ดูแลทรัสต์ (Trustee) มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง และเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จากทรัพย์สินที่ผู้ก่อตั้งโอนให้

 

3.ผู้รับประโยชน์ (Beneficiaries) ทายาทที่ผู้ก่อตั้งมีความประสงค์ที่จะส่งมอบทรัพย์สินให้ รวมถึงตัวผู้ก่อตั้งเองด้วย

 

ประเภทของการจัดตั้งทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินสามารถจำแนกดังต่อไปนี้

 

1. A revocable trust: ทรัสต์ที่ผู้ก่อตั้งสามารถยกเลิก หรือเพิกถอนเมื่อไรก็ได้ และโอนทรัพย์สินคืนกลับไปยังผู้ก่อตั้ง แต่ทรัสต์ประเภทนี้ไม่สามารถช่วยในด้านการบริหารจัดการด้านภาษี และไม่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินจากภาระหนี้สินจากผู้ก่อตั้งได้ แต่เป็นทรัสต์ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน สามารถเพิ่ม หรือลดผู้รับผลประโยชน์ได้โดยอิสระ และยังสามารถเปลี่ยนสัดส่วนของทรัพย์สินที่จะแบ่งให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ในตอนท้ายได้อีกด้วย


2.An irrevocable trust: ทรัสต์ที่ผู้ก่อตั้งไม่สามารถยกเลิก หรือเพิกถอนได้ เหมาะกับลูกค้าที่ต้องการได้รับผลประโยชน์การบริหารจัดการด้านภาษี และนำทรัสต์มาใช้เป็นเครื่องมือปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินจากภาระหนี้สินของผู้ก่อตั้ง

 

แนวคิดในการจัดตั้งทรัสต์ ถือเป็นองค์รวมในการบริหารทรัพย์สินของครอบครัว โดยมีรากฐานมาจากธุรกิจกงสี สัญญาผู้ถือหุ้น และข้อบังคับบริษัท การจัดทำธรรมนูญครอบครัว ตามมาด้วย Family Holding Company รวมถึงการส่งมอบมรดกด้วยพินัยกรรม ครอบคลุมองค์ประกอบทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ของสมาชิกในครอบครัว จึงเหมาะกับครอบครัวที่มีมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมาก เพราะการจัดตั้งทรัสต์ต้องดำเนินการในต่างประเทศ และต้องทำความเข้าใจในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายไทย และประเทศที่จะไปจัดตั้ง อีกทั้งอายุของทรัสต์ส่วนใหญ่จะยาวนาน ประมาณ 99 ปี จึงครอบคลุมสมาชิกครอบครัวอย่างน้อย 4 รุ่น แต่หากสามารถจัดตั้งทรัสต์ได้ จะช่วยลดความขัดแย้งทั้งหมดที่เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างยั่งยืนถาวร โดยมีระบบและกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน

 

การจัดทำธรรมนูญครอบครัว หรือ การจัดตั้งกองทรัสต์ ให้สำเร็จลุล่วงได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องที่อ่อนไหว แต่หากทำสำเร็จแล้ว จะเป็นข้อตกลงที่ใช้ปฏิบัติในครอบครัวอย่างยั่งยืนถาวร

 

โดย สุนิดา เทียนประเสริฐ นักวางแผนการเงิน CFP®