กทพ.ทุ่ม 2.4 พันล้าน สร้างทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพฯ แก้รถติดสายบางนา-อาจณรงค์

17 ธ.ค. 2563 | 08:43 น.

กทพ.เตียมถก กทท.เดินหน้าศึกษาสร้างทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพ แก้ปัญหารถติดทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ เร่งกทท.เคลียร์ปัญหาผู้บุกรุกที่ดินแล้วเสร็จภายใน 2 ปี คาดชงครม.เคาะปลายปี 2564

นางสาวกชพรรณ   เข็มทอง  ผู้อำนวยการกองวางแผนและวิเคราะห์โครงการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ด้านงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม  เศรษฐกิจ การเงิน  และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ว่า  ความคืบหน้าโครงการฯ ขณะนี้หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ เบื้องต้นให้ที่ปรึกษาโครงการฯ รวบรวมข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปดำเนินการร่วมลงทุนระหว่างกทพ.และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ภายในเดือนธ.ค.นี้ หลังจากนั้น กทพ.จะส่งรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) พิจารณา โดยระหว่างนี้กทพ.จะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด (Detail Design) ภายในเดือนม.ค.2564 ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ภายในปี 2564-2565 กทท.จะต้องดำเนินการเจรจาปัญหาผู้บุกรุกเพื่อเวนคืนที่ดินในพื้นที่ของกทท.พร้อมชดเชยค่าเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโครงการฯ  จากนั้นจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.และกระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในกลางปี 2564 และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปลายปี 2564 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2566 ระยะเวลา 2 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2568 

กทพ.ทุ่ม 2.4 พันล้าน  สร้างทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพฯ แก้รถติดสายบางนา-อาจณรงค์

สำหรับโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าการลงทุน 2,400 ล้านบาท  ค่าควบคุมงานก่อสร้าง 80 ล้านบาท  อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ร้อยละ 22  โดยมีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางและอัตราค่าผ่านทางในอัตราคงที่แบบมีด่านเก็บค่าผ่านทางสำหรับรถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ในอัตรา 50/75/110 บาทต่อคัน  ทั้งนี้มีด่านทั้ง 4 ด่าน ประกอบด้วย  1.ด่านขาขึ้น บริเวณด้านหน้าอาคาร สำนักงานปตท.พระโขนง 2.ด่านขาขึ้น บริเวณประตูทางออก Terminal 1&2  2.ด่านขาลง  บริเวณขาทางเชื่อม (Ramp) ทางพิเศษS1- ท่าเรือกรุงเทพ  ขณะเดียวกันคาดการณ์ปริมาณจราจรของโครงการ พบว่า มีรถที่เข้ามาใช้บริการในโครงการ 3 ประเภท คือ รถ 4 ล้อ รถ 6-10 ล้อ และรถมากกว่า 10 ล้อ ทั้งนี้ ในปี 2568 จะมีปริมาณจราจรประมาณ 14,400 คันต่อวัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถใหม่ที่ไม่เคยใช้ระบบทางด่วนดังกล่าว จำนวน 6,000 คันต่อวัน

ทั้งนี้แนวเส้นทางโครงการ เป็นพื้นที่โครงการอยู่บนถนนอาจณรงค์ในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และเชื่อมต่อกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่บริเวณ Terminal 3 ของท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งมีการออกแบบให้เชื่อมต่อกับประตูทางเข้า-ออก Terminal 3 ในแนวทิศเหนือ-ใต้ จากนั้นแนวเส้นทางจะเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) โดยก่อสร้างเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงหล่อสำเร็จรูปตัวไอ (I Girder) ไปตามแนวถนนอาจณรงค์ข้ามคลองพระโขนงและถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากนั้น จากนั้นแนวสายทางจะแยกเป็นขาทางเชื่อม และเข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ในทิศทางไปทางพิเศษบูรพาวิถีและทิศทางไปทางพิเศษฉลองรัช  

กทพ.ทุ่ม 2.4 พันล้าน  สร้างทางเชื่อมท่าเรือกรุงเทพฯ แก้รถติดสายบางนา-อาจณรงค์