เปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สีทอง ดันกรุงเทพฯ เป็นมหานครระบบราง?

16 ธ.ค. 2563 | 00:50 น.

ดร. สามารถ โฟสต์เฟซบุ๊ก ข้อความ ถาม เปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สีทอง ดันกรุงเทพฯ เป็นมหานครระบบราง?

 

 

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวโดยระบุข้อความว่า น่าดีใจที่มีการเปิดรถไฟฟ้ามาเป็นระยะๆ ทำให้กรุงเทพฯ มีความยาวของรถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่ทำไมรถยังติด?วันนี้ (16 ธ.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดการใช้รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือเพิ่มเติมอีก 7 สถานี จากสถานีพหลโยธิน 59 ถึงสถานีคูคต และรถไฟฟ้าสายสีทองซึ่งเป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ (Automated People Mover หรือ APM) วิ่งลอยฟ้าบนถนนกรุงธนบุรีและถนนเจริญนครเพื่อขนผู้โดยสารมาป้อนให้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี

 

ถึงวันนี้ (16 ธ.ค.63) กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วรวมเป็นระยะทาง 168 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมดในแผนแม่บทรถไฟฟ้าประมาณ 560 กิโลเมตร สายทางที่เปิดให้บริการแล้วมีดังนี้

1. สายสีเขียว ระยะทาง 66.7 กม. จำนวนสถานี 59 สถานี

2. สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 48 กม. จำนวนสถานี 40 สถานี

3. แอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทาง 28.5 กม. จำนวนสถานี 8 สถานี

4. สายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. จำนวนสถานี 16 สถานี

5. สายสีทอง ระยะทาง 1.8 กม. จำนวนสถานี 3 สถานี

รวมระยะทาง 168 กม. รวมสถานี 126 สถานี

 

เปิดรถไฟฟ้าสายสีเขียว-สีทอง  ดันกรุงเทพฯ เป็นมหานครระบบราง?

 

จากระยะทางที่เปิดใช้แล้วทั้งหมด 168 กม. เป็นระยะทางที่เปิดใช้ก่อนสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 87 กม. และในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 81 กม. คิดเป็นระยะทางที่เพิ่มขึ้นในสมัยท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ 93% ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบรางของท่านนายกฯ ประยุทธ์ฯ รวมทั้งรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมาที่ได้ทำการศึกษาความเหมาะสม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบ เวนคืนที่ดิน และเริ่มก่อสร้างบางสาย

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่วิกฤตจราจรก็ยังอยู่ควบคู่กรุงเทพฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของรถไฟฟ้า คนกรุงเทพฯ ยังคงนิยมใช้รถส่วนตัว และมีจำนวนไม่น้อยที่จำเป็นต้องใช้รถเมล์ ทำให้ท้องถนนยังเต็มไปด้วยรถรา ส่งผลให้รถติด อากาศเป็นพิษ และสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิง

สาเหตุที่มีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อยมีดังนี้

1. ค่าโดยสารแพง

การทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องแก้ไข ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เป้าหมายของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนก็คือทำกำไร

2. ขาดระบบเชื่อมต่อที่ดี

ระบบเชื่อมต่อหรือระบบขนส่งเสริม (Feeder Transport) มีบทบาทสำคัญในการจูงใจให้มีผู้มาใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้การเดินทางเข้า-ออกสถานีรถไฟฟ้ามีความสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของรถเมล์ซึ่งเป็นระบบขนส่งเสริมที่สำคัญทั้งเรื่องเส้นทางและตัวรถที่ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรม ให้มีเส้นทางที่สอดรับกับเส้นทางรถไฟฟ้า และมีตัวรถที่ใหม่สะอาดสะอ้านน่าใช้บริการ เราจะต้องไม่ลืมว่า “ไม่มีเมืองใดในโลกที่สามารถใช้รถไฟฟ้าให้ได้ผลถ้าไม่มีรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพมารองรับ รถเมล์และรถไฟฟ้าต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน”

 

 

 

3. ที่จอดรถบริเวณสถานีรถไฟฟ้า

การไม่มีที่จอดรถรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานี และ/หรืออาคารจอดรถที่เรียกกันว่า “อาคารจอดแล้วจร” ใกล้กับสถานี เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีผู้ใช้รถไฟฟ้าน้อย ดังนั้น ในขั้นตอนการศึกษาและออกแบบ ผู้รับผิดชอบจะละทิ้งปัจจัยนี้ไม่ได้

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ต้องการร่วมผลักดันให้กรุงเทพฯ ที่รักของเราเป็นมหานครแห่งระบบรางชั้นนำของโลก