อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "แข็งค่า"

16 ธ.ค. 2563 | 00:54 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งต่อถ้ามีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาทั้งในหุ้นและบอนด์ไทย

 

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.03 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.05 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ 29.93-30.13 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันนี้ต้องติดตามมุมมองตลาดที่กลับมาเปิดรับความเสี่ยง คาดว่าจะช่วยหนุนให้มีเงินทุนไหลเข้าในฝั่งตลาดหุ้นกดดันให้เงินบาทแข็งค่า โดยเรามองระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์เป็นเพียงแนวรับทางจิตวิทยา ซึ่งมีโอกาสผ่านลงไปได้ไม่ยากถ้ามีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาทั้งในหุ้นและบอนด์ไทยจริง

ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฟื้นตัวครั้งแรกในรอบสี่วัน ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 1.3% ด้วยความหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะผ่านสภาในไม่ช้า หนุนให้สินทรัพย์แทบทุกตลาดฟื้นตัวขึ้น ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาทองคำ ต่างปรับตัวขึ้น 0.3% 1.2% และ 1.4% ตามลำดับ

ด้านตลาดเงินภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) หนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีกลับขึ้นไปที่ระดับ 0.91% พร้อมกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า 0.4% โดยปอนด์อังกฤษ (GBP) แข็งค่าต่อ 1.0% จากความหวังว่า UK และ EU จะสามารถหาข้อตกลง Brexit กันได้ปลายปีนี้ ตามด้วยการแข็งค่าของสกุลเงินปลอดภัยอย่างเยนญี่ปุ่น (JPY) และฟรังก์สวิส (CHF

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้านี้ (16 ธ.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างแคบที่ 30.02-30.04  บาทต่อดอลลาร์ฯ แม้จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดวานนี้ที่  30.05  บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากที่ตลาดกลับมามีความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข่าวดีที่ FDA เตรียมจะพิจารณาวัคซีนของโมเดอร์นาให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ภายในวันศุกร์นี้ นอกจากนี้กรอบการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ยังจำกัดลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอประเมินผลการประชุมเฟด ซึ่งน่าจะมีการให้แนวทางการดำเนินโครงการ QE ในระยะข้างหน้า รวมถึง Dot Plot และประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 29.90-30.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ผลการประชุมเฟด รวมถึงข้อมูลยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนพ.ย. และดัชนี PMI ขั้นต้นเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษ