"รถไฟฟ้าสายสีทอง" เอกชนสร้าง รัฐรับรายได้ เปิดหวูดบูมฝั่งธนฯ พรุ่งนี้

15 ธ.ค. 2563 | 06:10 น.

"รถไฟฟ้าสายสีทอง" เชื่อมฝั่งธนบุรี กับ พระนคร โมเดลลงทุนใหม่เอกชนสร้าง รัฐรับรายได้ค่าตั๋ว พร้อมเปิดหวูด 16 ธ.ค. นี้ คาดช่วยบูมเศรษฐกิจฝั่งธนบุรีเติบโตแบบก้าวกระโดด

16 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นประธานการเปิดบริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นโครงที่รัฐบาลไม่ต้องออกเงินก่อสร้าง แต่จะได้รายได้ 100% จากค่าตั๋วโดยสาร เพราะมีกรุงเทพมหานคร(กทม.) เป็นเจ้าของโครงการ และ BTS เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ 

 


รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นโครงการรถไฟฟ้าสั้นที่สุดในประเทศไทยมีความยาวไม่ถึง 2 กิโลเมตร หรือระยะทางวิ่งเพียง 1.74 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ต้องบอกว่าทรงพลัง  คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงรถไฟฟ้าถึง 3 สาย ตอบโจทย์การพัฒนาและที่สำคัญได้ใจชาวฝั่งธนบุรีมากที่สุด จากการเดินทางเชื่อมโยงไปมาหาสู่กันกับฝั่งพระนคร ได้อย่างกระชับรวดเร็วไร้รอยต่อที่สถานีกรุงธนบุรีสายสีเขียว ซึ่งมีแผนเปิดเต็มทั้งระบบไปถึงคูคตในวันและเวลาเดียวกัน 

 

รู้จักรถไฟฟ้าสายสีทอง

 

  • ผู้ได้รับประโยชน์จากรถไฟฟ้าสายสีทอง คือคนฝั่งธนบุรี ที่จะสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงผู้คนจำนวนมากที่เข้ามาใช้บริการ หรือทำงาน หรือใช้ชีวิตทุกวันๆ ในสถานที่ราชการ และสถานที่สำคัญต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้ และบรรดาธุรกิจที่รายล้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของรถ เรือ และระบบรางขนส่งมวลชน สร้างความสะดวกในการสัญจรได้ครบวงจร 

 

  • กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าของโครงการ และมี BTS เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ

 

  • รถไฟฟ้าสายสีทอง เกิดจากการสนับสนุนของภาคเอกชน 100% โดยรัฐไม่ได้ลงทุนเลย รัฐได้รายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมด 

 

  • นักวิชาการคาดการว่า การมาของรถไฟฟ้าสายสีทอง จะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝั่งธนบุรีอย่างก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้

 

วัตถุประสงค์ของรถไฟฟ้าสายสีทอง


 
รถไฟฟ้าสายสีทองมีความเป็นเอกลักษณ์ตรงที่เป็น “สายเชื่อม” ซึ่งวางแผนก่อสร้างมาเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง และสายสีม่วง โดยรถไฟฟ้าสายสีทองจะมีสถานีทั้งหมด 4 สถานี ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเฟสแรกเสร็จแล้ว พร้อมเปิดให้บริการ 3 สถานี


 
รถไฟฟ้าสายสีทองเป็นรถไฟฟ้าสายเดียวที่วิ่งขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยา (แทนที่จะวิ่งข้ามแม่น้ำ) และมีเป้าหมายเมื่อแรกเริ่มโครงการเพื่อช่วยบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายจากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่ธนบุรี และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ย่านคลองสาน ซึ่งมีจำนวนสถานที่ราชการสถานที่สำคัญที่มีผู้เข้ามาใช้บริการจำนวนมากอยู่หลายสถานที่ นอกจากนั้นยังมีโครงการที่อยู่อาศัย โครงการเชิงพาณิชย์ โครงการเชิงชุมชนและวัฒนธรรม อีกเป็นจำนวนมากที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ดังนั้นคาดการณ์ว่า การมีรถไฟฟ้าสายสีทอง จะช่วยลดจำนวนรถบนถนนคลองสานลง ในแต่ละชั่วโมง ให้หายไปประมาณ 6,000 คัน 
 
 
รถไฟฟ้าสายสีทอง ลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาการเดินทาง

 

ประโยชน์โดยตรงในทันที จะเกิดกับผู้คนที่ต้องเดินทางมาในพื้นที่ทุกวัน เพื่อทำงานหรือใช้บริการสถานที่ราชการและสถานที่ต่างๆ โดยรถไฟฟ้าสายสีทองจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ในแต่ละวัน เช่น
 

  • โรงพยาบาลตากสิน
  • โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา
  • มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี
  • มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จ
  • สำนักงานเขตคลองสาน
  • สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร
  • ท่าเรือคลองสาน

 
ในทุกวัน จะมีผู้คนจำนวนกว่า 4.000 คน เดินทางไปใช้บริการโรงพยาบาลตากสิน, กว่า 30,000 คน เดินทางไปโรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่บริเวณนี้, และกว่า 25,000 คน เดินทางเข้าพื้นที่เพื่อใช้บริการเรือข้ามฟากและเรือโดยสารจาก 20 ท่าเรือที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งนับจากนี้ไป ผู้คนเหล่านี้จะสามารถสัญจรเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

 

ก่อสร้างโดยไม่ใช้เงินลงทุนจากรัฐบาล

 
ภาครัฐไม่ต้องใช้เงินลงทุนใดๆ ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ในขณะที่เมื่อรถไฟฟ้าสายสีทองก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของ และภาครัฐจะได้รับรายได้จากค่าตั๋วโดยสารทั้งหมด โดยเงินลงทุนก่อสร้าง มาจากการขายพื้นที่โฆษณาของรถไฟฟ้าสายสีทองให้กับเอกชนล่วงหน้า

 

ความพิเศษและจุดที่น่าสนใจของรถไฟฟ้าสายสีทอง

 

  • เป็นระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ Automated Guideway Transit (AGT)แบบไร้คนขับสายแรกของประเทศไทย คาดการณ์ผู้โดยสาร 42,000 เที่ยวคน/วัน

 

  • เสาตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีทอง ถูกออกแบบให้ยกสูงขึ้นมากกว่ารถไฟฟ้าสายอื่นทั่วๆ ไปในเมือง ประมาณ 3-4 เมตร โดยเสาตอม่อของรถไฟฟ้าสายสีทองมีความสูงประมาณ 15-19 เมตร ในขณะที่ เสาตอม่อรถไฟฟ้าสายอื่นทั่วไปในเมือง จะมีความสูงประมาณ 12-15 เมตร เพื่อไม่ให้บังตึกแถวบ้านเรือนประชาชน และช่วยลดผลกระทบทางเสียง

 

  • ระบบล้อของรถไฟฟ้าสายสีทอง ไม่ใช่ล้อเหล็ก แต่เป็นล้อยางเหมือนๆ กับล้อรถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดเสียงดังจากการวิ่งของรถไฟฟ้า ลงได้ 40% หากเทียบกับระบบล้อเหล็ก โดยเสียงจากการวิ่งของล้อยางของรถไฟฟ้าสายสีทองก่อให้เกิดเสียงประมาณ 43.3-69.5 เดซิเบล (เอ) ในขณะที่เสียงจากการวิ่งของล้อเหล็กจะอยู่ที่ ประมาณ 90-115 เดซิเบล (เอ)

 

  • วงเลี้ยวของรถไฟฟ้าสายสีทองถือว่าดีมาก โดยมีรัศมีประมาณ 70 เมตร ในขณะที่รถไฟฟ้าทั่วไปมีรัศมีวงเลี้ยวปกติอยู่ที่ประมาณ 200 เมตร นั่นทำให้ช่วยลดจำนวนและขนาดของเสาตอม่อที่จะต้องสร้าง ณ บริเวณช่วงเลี้ยว ซึ่งส่งผลต่อการลดสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งบดบังวิสัยทัศน์ของผู้ใช้รถใช้ถนนและคนเดินทางเท้า ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีทองมีจุดหักเลี้ยวอยู่หลายตำแหน่ง ระบบล้อนี้จะช่วยให้สามารถชะลอความเร็วรถเมื่อเข้าโค้งช่วงต่างๆได้ดี 


นอกจากนี้รถไฟฟ้าสายสีทองยังช่วยปลุกทำเลย่านเจริญนครให้กลับมาคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง  โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว กินดื่ม ดื่มด่ำ ช็อปปิ้ง ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  เพราะว่าโซนนี้แวดล้อมไปด้วยโรงแรมหรูริมน้ำมากมาย รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง ไอคอนสยาม ซึ่ง ใครเดินทางมาต้องเชื่อมกับสายสีทอง ซึ่งเป็นสายที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารเข้ามาถึงถนนเจริญนครช่วงต้น


ขณะที่ดินโซนนี้จะถูกนำไปพัฒนาเพื่อทำเป็นโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบคอนโดมิเนียมตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับสูง ปัจจุบัน ที่ดินในโซนนี้ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 400,000-800,000 บาทต่อตารางวา และราคาอาจจะแตะอยู่ในช่วง 800,000-1,000,000 บาทต่อตารางวา หากเป็นบริเวณใกล้เคียงไอคอนสยาม ที่ล่าสุด ค่ายเสนา บริษัทเสนาดีเวลอปเม้นท์จำกัด(มหาชน) ปักหมุดคอนโดหรูบริเวณสายสีทองติดกับห้าง ยักษ์ แห่งนี้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง